วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

ติดแก๊สรถยนต์ดีไหม

"ติดแก๊สรถยนต์ดีไหม" หากพูดถึงรถที่ใช้พลังงานทางเลือก อย่าง แก๊ส  LPG หรือ NGV ในปัจจุบันแล้ว  คงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และเรื่องไกลตัวสำหรับผู้ใช้รถ  หลายคนอาจคุ้นเคยด้วยซ้ำไป  เพราะเติมอยู่เป็นประจำหรือบางคน อาจไม่คุ้นสักเท่าไหร่  เพราะไม่ได้ใช้  แต่ถ้าบอกว่าเมื่อคุณโดยสารรถแท็กซี่คันนึง   เท่ากับว่าขณะนั้นคุณกำลังใช้รถที่ใช้แก๊สอยู่   ฉะนั้นแล้วเชื่อได้ว่า    ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ   เกือบทุกคนคงเคยสัมผัสรถใช้แก๊ส มาก่อนอย่างแน่นอน
                 
รู้จักกับก๊าซ LPG , NGV  กันก่อน
โดยหลักๆ แล้ว  พลังงานทางเลือก   ที่นิยมใช้ในประเทศไทย  ณ ปัจจุบัน  คงหนีไม่พ้นก๊าซ  LPG และ NGV  เริ่มต้นจากก๊าซ    LPG (Liquefied Petroleum Gas)  เป็น ผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการแยกน้ำมันดิบ  ในโรงงานกลั่นน้ำมัน   หรือการแยกก๊าซในโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติ    โดยก๊าซ LPG ประกอบด้วย   ส่วนผสมของไฮโดรคาร์บอน 2 ชนิด   คือ โพรเพน และบิวเทน    ซึ่งมีคุณสมบัติไม่มีสี    ไม่มีกลิ่น   หนักกว่าอากาศ    และติดไฟได้ง่าย

ส่วน ก๊าซ   NGV (Natural Gas Vehicles)  คือ   ก๊าซธรรมชาติ  สำหรับรถยนต์   ซึ่งได้มาจากบ่อขุดน้ำมัน   หรือบ่อก๊าซโดยตรง   ไม่ผ่านกระบวนการกลั่นที่หอกลั่น   เพียงแต่นำมาแยก เอาสิ่งสกปรกออก เท่านั้น  ประกอบด้วย สารประกอบประเภท   ไฮโดรคาร์บอน   จำพวกมีเทนเป็นหลัก   ไม่มีสี    ไม่มีกลิ่น   เบากว่าอากาศ   ติดไฟง่าย ก่อนนำมาใช้งานทั่วไปนั้น    ต้องผ่านกระบวนการอัดตัว หรือที่เรียกว่า  CNG (Compressed natural Gas)  หรือ  ก๊าซธรรมชาติอัดนั่นเอง

การติดตั้งก๊าซ  LPG  หรือ NGV  นั้น ปัจจุบันแบ่งเป็น  2 ประเภท ใหญ่ๆ  คือ  ประเภทที่ติดตั้งมาให้จากโรงงาน  อาทิ รถ TOYOTA Hilux VIGO,  HONDA City CNG  และอีกหลายๆ ยี่ห้อ    หรือประเภทที่นำไปติดตั้งเองจากสถานประกอบการภายนอก   ซึ่งความแตกต่างหลักๆ ของทั้ง 2 ประเภท    อยู่ที่การรับประกันเครื่องยนต์   เนื่องจากรถที่ไม่ได้ติดก๊าซจากโรงงานผู้ผลิต    แล้วนำไปติดตั้งเองนั้น  การรับประกันเครื่องยนต์จะสิ้นสุดลงทันที

ส่วนเรื่องของ ความปลอดภัย ถ้าใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน  การติดตั้งมีมาตรฐาน  ความปลอดภัยย่อมมีสูงอยู่แล้ว  ไม่ว่าจะติดตั้งที่ใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น   หากใครต้องการใช้รถติดก๊าซอยู่แล้ว  ให้เลือกรถที่ติดตั้งก๊าซ มาจากโรงงานผู้ผลิต เลยดีกว่า เพราะโรงงาน  ได้เผื่อพื้นที่การจัดวางอุปกรณ์    สำหรับระบบก๊าซไว้แล้ว จึงไม่ต้อง เจาะ ตัด กลึง ต่อตัวถังเพิ่มอีก

กรณีการติดตั้ง  ก๊าซจากโรงงานผู้ผลิตนั้น  ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า  ปัจจุบันเรื่องก๊าซกับรถยนต์  ไม่น่ากลัวเหมือนแต่ก่อน เพราะทุกชิ้นส่วน  และทุกขั้นตอนการติดตั้ง   มีระบบป้องกัน ที่มีมาตรฐาน   ผ่านการค้นคว้าทดลองมาแล้วเป็นอย่างดี

อยากใช้งานรถติดก๊าซสักคัน ต้องรู้อะไรบ้าง
แม้ว่า เรื่องก๊าซในรถยนต์ กับเมืองไทย เริ่มได้รับความนิยมมาพักใหญ่ๆ แล้ว   แต่เชื่อว่าผู้ใช้รถติดก๊าซบางท่านยังไม่ทราบว่า   ปัญหาของรถติดก๊าซหลักๆ มีอะไรบ้าง  เมื่อใช้ไปนานๆ ต้องตรวจเช็คอะไรบ้าง  แต่ถ้าใครทราบแล้วก็คิดซะว่าอ่านซ้ำแล้วกัน   หากย้อนอดีตไปสัก 5-10 ปี การติดก๊าซ ในรถยนต์ส่วนบุคคล ดูเป็นเรื่องใหญ่ และยุ่งยากมาก เพราะมันยังใหม่อยู่ การหาอู่ที่มีฝีมือ  เชื่อถือได้ มีมาตรฐานยังมีน้อย  ส่วนใหญ่จึงนิยมไปติดกับอู่ซ่อมรถทั่วไป  ที่ไม่รู้ว่าได้มาตรฐานหรือเปล่า  เมื่อต้องการแจ้งจดก๊าซลงเล่ม กับกรมขนส่งทางบก  ก็ค่อยหาซื้อใบรับรองวิศวกรเอา  สมัยนั้นจำได้ว่ามีตั้งแต่  400-1,000 บาท (วิธีนี้ไม่แนะนำให้ทำ แต่ปัจจุบันอู่ประเภทนี้น่าจะสูญพันธ์ไปหมดแล้ว)   การติดก๊าซยุคนั้นจึงจำกัดอยู่ในวงแคบ  ส่วนใหญ่จะเป็นรถช่างหรือผู้ที่พอซ่อมรถได้    เนื่องจากขับไปสักพักก็ต้องจูนใหม่ เพราะมันเป็นก๊าซ Mixer เพี้ยนง่าย (ระบบหัวฉีดยุคนั้นแพงมาก) แต่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา   พลังงานทางเลือก  กลับเป็นช่องทางที่ผู้ใช้รถต้องการมากขึ้น  ด้วยเหตุผล เรื่องความประหยัด  รถใช้ก๊าซ และปั๊มก๊าซจึงเพิ่มขึ้นมาก

ปัญหาหลักของ รถติดตั้งก๊าซ   ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้  คือ อุณหภูมิความร้อน  จากการสันดาป  ของเครื่องยนต์ไปส่งผลต่อวาล์ว   ทำให้ วาล์วไอเสียยัน  เนื่องจากความร้อน  เป็นชนวนหลัก ทำให้วัสดุขยายตัว  เมื่อร้อนมากก็ขยายมาก  ถ้าเกินขีดจำกัด วาล์วก็ยัน  ส่วนอีกปัญหา ที่พบบ่อย คือ  บ่าวาล์ว ที่สึกหรอเร็วขึ้น   เพราะก๊าซเป็นพลังงานสะอาด  เขม่าที่เกิดจากการ เผาไหม้จึงมีน้อย  ส่งผลให้เขม่า ไปเกาะ บ่าวาล์ว ได้น้อยด้วย  บ่าวาล์วก็สึกเร็ว   นอกจากนั้นยังมี เรื่องการ       ผุกร่อนของระบบไอเสีย  แคตตาไลติค  ท่อยาง   เสื่อมสภาพเร็วขึ้น   เนื่องจากเครื่องยนต์  มีความร้อนสูง

วิธีการดูแลปัญหาเหล่านี้  คือ เปลี่ยนถ่ายของเหลว ตามระยะ ตรวจเช็คกรองก๊าซ หัวเทียน  ท่อยางน้ำ  ท่อยางก๊าซ บ่อยๆ  หากสึกหรอ  ให้รีบเปลี่ยนทันที (เปลี่ยนก่อนระยะที่ระบุไว้ก็ได้ หากวัสดุเริ่มเสื่อมสภาพแล้ว)   แต่ในปัจจุบัน  รถที่ติดตั้งระบบก๊าซ  มาจากโรงงานบางรุ่น  (ไม่ใช่ทุกรุ่น)  ได้แก้ไขจุดอ่อนส่วนนี้   ด้วยวิธีการเสริมบ่าวาล์วใหม่    เคลือบผิววาล์ว ให้แข็งแรงเพิ่มขึ้น   ทนความร้อนได้สูงขึ้น   ฉะนั้นปัญหาเรื่อง  วาล์วไอเสีย บ่าวาล์วเสียหายเร็วนั้น   จึงทุเลาลงไปได้มากพอสมควร

รถติดก๊าซ ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า
อันที่จริงแล้ว รถที่ซื้อมาราคานับแสนนับล้านนั้น   มันจะคุ้มค่า ก็ต่อเมื่อเราใช้งานมัน  (รถที่จอดอยู่ก็มีแต่เสื่อม  ถึงไม่เสื่อมสภาพ ก็เสื่อมราคาไปทุกวัน)   รถติดก๊าซ ก็ไม่ต่างอะไร  กับรถที่ใช้น้ำมัน  ถ้าใช้บ่อยๆ เดินทางบ่อยๆ  ไม่นานก็คุ้มค่า คิดง่ายๆ  ถ้าใช้ก๊าซ แล้วประหยัดเงินกว่าใช้น้ำมัน กิโลละ 2 บาท  เมื่อใช้ 2 หมื่น  กิโลเมตร  ประหยัด 4 หมื่นบาท   ใช้ 1 แสนกิโลเมตร   จะประหยัด 2 แสนบาท   แต่ก็มาพร้อม ความสึกหรอของเครื่องยนต์   โดยเฉพาะเครื่องยนต์รุ่นเก่า  ที่ไม่ได้รองรับก๊าซ   แต่คิดอีกแง่   ก๊าซคือ เชื้อเพลิงชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้เหมือนกัน   รวมถึงเครื่องยนต์ต่างก็มีอายุการใช้งานของมัน   ฉะนั้นไม่ว่าจะใช้ก๊าซ  หรือใช้น้ำมัน สักวันเครื่องก็พังอยู่ดี

แต่ในบางประเทศนิยมใช้ก๊าซ   เนื่องจากมีกฎหมายระบุ ให้รถใช้งานแค่ 8 ปี  หรือ  10 ปี   เกินกว่านั้นก็ทุบทิ้ง  หรือแยกเป็นอะไหล่   แต่สำหรับประเทศไทย  ไม่ได้ระบุอายุการใช้งานของรถไว้  รถอายุ 15ปี แล้ว  ยังใช้เครื่องเดิมอยู่  ก็ต้องมีค่าซ่อมแซมเป็นธรรมดา   แต่อย่างที่เกริ่นไปแต่แรก  รถที่ใช้ก๊าซ มีโอกาสที่เครื่องยนต์จะสึกหรอเร็วกว่าปกติ   แต่ก็ไม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาด้วย
ฉะนั้นถ้าหมั่นดูแล  ตรวจเช็คเครื่องยนต์อยู่เสมอ  ตามวิธีที่ได้กล่าวมา  ไม่ใช้เครื่องยนต์หนักหน่วงเกินไป  สลับไปใช้น้ำมันให้หัวฉีดน้ำมัน  และปั๊มติ๊กได้ทำงานบ้าง  และหมั่นดูอุณหภูมิความร้อน เครื่องยนต์บ่อยๆ  เพียงเท่านี้ เครื่องมันก็ไม่พังง่ายๆ   ยิ่งเป็นรถรุ่นใหม่  ที่มีระบบเสริมความแข็งแรง ของฝาสูบด้วยแล้ว อาจทนได้เป็น  แสนกิโลเมตร   เมื่อถึงเวลานั้นลองคิดดูว่า   คุณใช้รถมาขนาดนี้ คุ้มค่าหรือยัง

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

พวงมาลัยเพาเวอร์

หากเป็นเมื่อก่อน  "ตัวทำมือเบา"  หรือ พวก "พวงมาลัยเพาเวอร์"  ดูจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นนัก ส่วนใหญ่มักจะเห็นใช้กันในกระบวนรถ อเมริกันคันโต  หรือ ประเภทรถหรูหราราคาแพง พวกรถอื่นหาดูยาก  อย่างพวกรถกระบะก็ยังต้อง ออกแรงสาวพวงมาลัยกัน  ยิ่งพวกรถคันเล็กคันน้อย ก็ลืมไปได้เลย  อยากเลี้ยวก็ต้องมีรายการออกกำลังกายกันบ้าง  ต่างจากรถสมัยนี้  "พวงมาลัยเพาเวอร์"  ถือว่าเป็นของจำเป็นไปซะแล้ว แค่ "พวงมาลัยพาวเวอร์"  หนักมือหน่อยก็บ่น  หรือพวกรถ   "อีโคคาร์" ก็ต้องเป็น  "พวงมาลัยเพาเวอร์"  ไม่งั้นคงถูกบ่นกันหูชาแน่

วิวัฒนาการของพวงมาลัยเพาเวอร์
เพาเวอร์ หรือ ปั๊มของพวงมาลัยเพาเวอร์  แบบปั๊มไฮดรอลิค จะอาศัยกำลังเครื่องยนต์  ที่ต่อสายพานมา หมุนพูลเล่ย์ปั๊ม ปั่นเป็นแรงดัน อัดน้ำมันเพาเวอร์ไปช่วยผ่อนแรง ในการหมุนพวงมาลัย   โดยมีวาล์วเป็นตัวกำหนดทิศทาง  สำหรับพวงมาลัยเพาเวอร์รุ่นแรกๆ  พวกนี้จะมีจุดสังเกตคือ เวลาที่หักพวงมาลัยสุด  หรือหักพวงมาลัยสุดคาเอาไว้  จะมีเสียงปั๊มร้องครางให้ได้ยินกันชัดหู

ปั๊มเพาเวอร์พวงมาลัย  รุ่นพัฒนาแล้ว  ตัวปั๊มจะเปลี่ยนมาใช้  ใบพัดแบบ  Vane  มีลักษณะ เป็นใบหนีศูยน์  โดยมีแผ่น หรือแท่งเหล็กเสียบกับแกน   เมื่อแกนปั๊มหมุนก็จะถูกเหวี่ยง ไปสัมผัสกับเสื้อปั๊ม   แล้วรีดน้ำมันเพาเวอร์ให้ไหล  ไปตามสายไฮดรอลิค  หรือท่าทางเดิน  ปั๊มรุ่นนี้ เวลาหักพวงมาลัยสุดจะเงียบไม่มีเสียงครางให้ได้ยินแล้ว  ต่อมามีการนำเอา เพาเวอร์พวงมาลัย มาใช้กับรถเล็ก  เพื่อช่วยเพิ่มความสบายให้แก่คนขับ

โดยเฉพาะพวกรถ  เกียร์อัตโนมัติ  ถึงจะเป็นรถคันเล็กก็จริง  แต่พวงมาลัยก็มักจะหนัก กว่ารถเกียร์ธรรมดา  พวกรถเล็กจึงเริ่มนิยมใช้พวงมาลัยเพาเวอร์กันหนาตา  เจ้าปั๊มเพาเวอร์  เหล่านี้จะมีปัญหา ในเรื่องการกินแรงของเครื่องยนต์  พอรถคันน้อยใช้เครื่องเล็ก  เจอกับเพาเวอร์พวงมาลัย คอมเพรสเซอร์แอร์  และบางทีก็ใช้เกียร์อัตโนมัติ  ม้าในเครื่องยนต์จะหดหายไปหลายตัว   โดยเฉพาะในช่วงรอบเดินเบา  ที่มีม้าออกมาให้ใช้งานกันน้อยตัว  พวกรถขนาดเล็กที่มีความจุเครื่องยนต์  1,500ซีซี.   บางรุ่น  จึงต้องมีระบบตัดแอร์ไม่ให้ทำงาน  เวลาหักเลี้ยวพวงมาลัย  ขณะถอยรถเข้าที่จอด  เพราะเครื่องยนต์ใช้รอบเครื่องต่ำ  มีม้าน้อยก็เลยต้องถนอมเอาไว้บ้าง  ไม่งั้นอาจจะมีปัญหาเครื่องสั่นหรือดับ  เพราะแรงไม่พอเดินเบาก็ได้  พวกรถคันเล็ก เครื่องความจุน้อย กลัวว่าจะมีปัญหาแอร์ไม่เย็น อีตอนเลี้ยวรถ
ก็เลยแก้ปัญหา  โดยการหันมาใช้  มอเตอร์ หรือปั๊มแบบไฟฟ้า  แทนปั๊มเพาเวอร์  ที่พึ่งพาแรงฉุดหมุนจากเครื่องยนต์  ซึ่งมีข้อดีอยู่หลายประการเหมือนกัน  อย่างแรกเลยที่เป็นเป้าหมายหลัก คือ ไม่ต้องตัดแอร์เวลาหักเลี้ยว ช่วงรอบเครื่องต่ำ ถึงจะหักเลี้ยว แอร์ก็ยังเย็นเหมือนปกติ  ไม่โหลดเครื่องให้เครื่องสั่น ตอนหักเลี้ยว สามารถปรับรอบเดินเบา ให้ต่ำลงได้ไม่ต้องเผื่อแรง  สำหรับการหมุนเพาเวอร์พวงมาลัย  นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วย  ด้านเรี่ยวแรงให้มีอัตราเร่งดีขึ้น  เพราะไม่ต้องบริจาคม้าในเครื่อง  ไปให้ปั๊มเพาเวอร์ใช้งานกันอีกแล้ว  ทำให้สามารถเรียกม้ามาใช้ได้เต็มที่กว่าเดิม   แล้วยังมีส่วนช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น  อีกต่างหาก   เนื่องจากโหลดของเครื่องยนต์ ลดน้อยลง  การติดตั้งก็ง่าย  และสะดวกกว่าเดิม  หาที่ว่างตรงไหนในห้องเครื่องก็ติดตั้งได้   ต่างกับพวกปั๊มเพาเวอร์  ต้องอยู่ใกล้ชิด ติดกับเครื่องยนต์ลูกเดียว  เพื่อให้โยงสายพานมาหมุนปั๊มได้สะดวก   อีกทั้งยังสามารถปรับน้ำหนักพวงมาลัย  ตามความเร็วได้ง่าย  โดยให้พวงมาลัยเบาเมื่อรถวิ่งช้า  และหน่วงมือขึ้น ยามรถวิ่งเร็ว  ช่วยให้การบังคับควบคุมรถช่วงความเร็วสูง มีความมั่นคงและมั่นใจ   ต่างจากระบบปั๊มเพาเวอร์เครื่องยนต์  ที่ส่วนใหญ่มักจะหน่วงมือตามรอบเครื่องไม่ได้หน่วงตามความเร็วของรถ

ในสภาวะระบบอิเล็คทรอนิคส์กำลังรุ่ง  ก็เลยมีการใช้ระบบ  พวงมาลัยไฟฟ้า  โดยคราวนี้ จะเป็นระบบอิเล็คทรอนิคส์  กันเต็มรูปแบบ  อันเป็นการใช้มอเตอร์ควบคุมการทำงานของพวงมาลัย  ตัวพวงมาลัยจริงๆ  เป็นเพียงแค่เซ็นเซอร์เท่านั้นเอง  ที่จะเป็นผู้ส่งสัญญาณ การทำงานไปให้  ส่วนตัวกำลังที่ไปหมุนล้อให้ขยับในทิศทางที่ต้องการ  จะใช้มอเตอร์เป็นตัวทำงาน   ในลักษณะเช่นนี้  พวงมาลัยจึงเป็นเพียงแค่ตัวส่งสัญญาณแบบ  "จอยสติ๊ก"  อันหนึ่งเท่านั้นเอง   ไม่ได้ใช้ไปขับเคลื่อนมุมล้อโดยตรง  ตัวออกแรงจะเป็นหน้าที่ของชุดมอเตอร์   ดังนั้นจึงสามารถออกแบบให้หนักเบาเท่าไหร่ก็ได้ตามใจชอบ

การทำงานของพวงมาลัยเพาเวอร์ แบบปั๊มไฮดรอลิค
พวงมาลัยเพาเวอร์ แบบปั๊มไฮดรอลิค  หยิบยืมแบ่งกำลังจากเครื่องยนต์  มาเป็นตัวทำงาน   โดยมีตัวปั๊มไฮดรอลิค เป็นตัวผลักดันสร้างกำลัง   ส่วนการทำงานของปั๊ม ก็อาศัยสายพานพ่วง จากพูลเลย์เครื่องยนต์ มาหมุนตัวปั๊ม   สร้างเป็นแรงดันแล้วอาศัยแรงดันมาช่วยในการหักเลี้ยว  หมุนพวงมาลัย
การทำงาน

จากเครื่องยนต์ที่ถูกใช้เป็นตัวต้นกำลัง  จะมีสายพานพ่วงไปยังพูลเล่ย์ ของปั๊มไฮดรอลิค  (Pump and Reservoir)  เมื่อปั๊มหมุน ตามการหมุนของเครื่องยนต์   ก็จะเกิดเป็นแรงขับดัน น้ำมันไฮดรอลิคในปั๊ม และระบบเจ้าแรงดัน  หรือ น้ำมันไฮดรอลิคนี้  จะไปทำต่อลูกสูบ (Power Cylinder)  ในกระบอกสูบ  เกิดเป็นแรงผลักดัน  ในระบบพวงมาลัย  ช่วยให้การหักเลี้ยวเบามือกว่าปกติ   ส่วนมันจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน  ขึ้นอยู่กับแรงดันของตัวปั๊ม  และแรงดันที่ไปกระทำต่อลูกสูบ  ถ้ามีเรี่ยวแรงมาก มันก็สร้างความเบามือได้มาก  แต่ก็กินแรงเครื่องยนต์ไปเยอะเหมือนกัน

การขับตรง
น้ำมันจากปั๊ม  จะถูกส่งไปยัง ลิ้นควบคุม (Control Valve)  ถ้าลิ้นควบคุมอ ยู่ในตำแหน่งกึ่งกลาง  น้ำมันทั้งหมดจะไหลผ่านลิ้นควบคุม เข้าไปในช่องระบาย   และไหลกลับสู่ปั๊มทางท่อไหลกลับ  ซึ่งในขณะนี้เกือบจะไม่มีความดันใดๆ  เกิดขึ้น และเป็นเพราะว่า ความดันบนลูกสูบ (Power Cylinder)  มีอยู่เท่ากันทั้งสองด้าน  ลูกสูบจึงไม่มีการเคลื่อนที่ไปด้านใดด้านหนึ่ง

การเลี้ยวซ้าย
ในการเลี้ยวไปทางด้านซ้าย  เมื่อแกนพวงมาลัยหมุนไป จะมีกลไกไปผลักดัน ลิ้นควบคุม (Control Valve)  ให้เคลื่อนที่ ไปปิดช่องทางน้ำมันด้านซ้าย ในลักษณะ   เช่นนี้ช่องทางน้ำมันทางด้านขวา  จะเปิดกว้างขึ้น  เป็นเหตุให้ปริมาณการไหลของน้ำมัน  หรือ Pump Pressure เปลี่ยนแปลงไป  โดยน้ำมันจะไหลเข้าไปยังห้อง  ทางด้านขวา  และในเวลาเดียวกันก็จะเกิดความดันขึ้น   เป็นผลให้เกิดความแตกต่าง  ของความดันขึ้น ในลูกสูบทั้งสองด้าน   และลูกสูบก็จะเคลื่อนที่ไปในด้านที่มีความ  ดันต่ำกว่าคือ ทางด้านซ้าย ส่วนน้ำมันในกระบอกลูกสูบด้านซ้าย  จะถูกดันให้ไหลกลับไปยัง ปั๊ม  (Pump and Reservoir) โดยผ่านทาง ลิ้นควบคุม (Control Valve)

การเลี้ยวขวา
เมื่อหมุนพวงมาลัยไปทางด้านขวา  ตัวแกนพวงมาลัยหมุนไป ลิ้นควบคุม (Control Valve)  จะขยับเลื่อน ไปปิดช่องทางน้ำมันด้านขวา ดังนั้นช่องทางน้ำมันด้านซ้าย  จึงเปิดกว้าง น้ำมัน  หรือ Pump pressure  จะไหลไปทางห้องด้านซ้าย เกิดความแตกต่าง ของความดันขึ้นในลูกสูบ ทั้งสองด้าน  และลูกสูบก็จะเคลื่อนที่ไปในด้านขวา  ที่มีความดันต่ำกว่า   และทำให้น้ำมัน ในกระบอกสูบทางด้านนั้น  ถูกดันให้ไหลกลับผ่านลิ้นควบคุม  (Control Valve)  ย้อนกลับไปยังปั๊ม  (Pump and Reservoir)

เพาเวอร์พวงมาลัย มีปัญหา
การบำรุงรักษาชุดเพาเวอร์พวงมาลัย  ก็ไม่มีอะไรมาก  นอกจากคอยตรวจเช็ค ระดับน้ำมันในกระปุก  ซึ่งจะมีขีดวัดบอกระดับเอาไว้ที่ตัวกระปุกให้เห็น   หรือมีก้านวัดติดอยู่ที่ฝา  โดยระดับของน้ำมัน  จะแบ่งออกเป็น "Cold" และ "Hot" ในตำแหน่ง  "Cold" นั้น เป็นระดับอีตอนเครื่องเย็น  ส่วนขีด  "Hot" เป็นระดับของน้ำมันขณะเครื่องร้อน  พร้อมกับต้องเติมเพิ่มให้อยู่ในระดับที่ถูกต้อง  เมื่อพบว่าน้ำมันอยู่ต่ำกว่าที่กำหนด  เนื่องจากน้ำมันเพาเวอร์  ที่ผ่านการใช้งานมานานจะสกปรก หรือเกิดการเสื่อมสภาพ  จากความร้อนที่ถูกอัดดัน โดยตัวปั๊ม  ซึ่งระดับความร้อน ของน้ำมันเพาเวอร์พวงมาลัยนี้ ค่อนข้างสูงทีเดียว จนกระทั่งรถบ้างรุ่นจำเป็นต้องติดตั้งตัวออยล์คูลเลอร์  ของน้ำมันเพาเวอร์พวงมาลัย  เพื่อให้ช่วยลดระดับความร้อนลงมา

อย่างไรก็ตาม  ชุดพวงมาลัยเพาเวอร์  เมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่ง ย่อมเกิดบกพร่อง  หรือมีการเสียหายขึ้นมาได้  เนื่องจากพวงมาลัยเพาเวอร์  เป็นอุปกรณ์ทางไฮดรอลิค ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มักจะเป็นเรื่องมาจากพวกแรงดันต่างๆ ที่กระทำต่อตัวลูกสูบไม่เพียงพอซะมากกว่า  ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าตัวปั๊มชำรุด เกิดการสึกหรอ  ทำให้ไม่สามารถผลิตแรงดันน้ำมัน  ได้ตามค่าที่กำหนด   ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการชำรุดสึกหรอ  ของตัวโรเตอร์  ใบกวาด  หรือแหวนลูกเบี้ยวบางครั้ง ก็เกิดจากลิ้นควบคุมการไหลชำรุด  อุดตัน รั่ว สปริงเสื่อม  หรือพวกลิ้นควบคุมทำงานไม่ถูกต้อง  ข้อสังเกต  คือถ้าตัวการเกิดขึ้นจากเจ้าตัวปั๊มแล้วนั้น  ยามที่เราหมุนพวงมาลัยไป ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยวซ้าย  หรือเลี้ยวขวาก็ตาม  อาการที่เกิดขึ้นจะเป็นลักษณะเดียวกัน  เช่น พวงมาลัยหนักมือ  หรือมีอาการสะดุดเป็นจังหวะ ก็จะรู้สึกเหมือนกันไม่ว่าจะหมุนพวงมาลัยไปทางด้านไหน

ในทางตรงกันข้าม  ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจาก ความบกพร่อง ของพวกลิ้นควบคุมแล้ว จะพบว่ามีความแตกต่างกัน  ในขนาดแรงช่วยขับ  ระหว่างเมื่อหมุนพวงมาลัยไปทางซ้าย  และขวา เช่น เวลาเลี้ยวซ้ายแล้วเบามือดี  พอเลี้่ยวขวาก็ได้เรื่อง  มีความรู้สึกว่า การบังคับเลี้ยวลำบากหน่วงมือกว่าปกติ  หรือเวลาเลี้ยวขวาคล่อง และเบามือ พอคืนพวงมาลัยกลับมา เลี้ยวซ้ายบ้างคราวนี้ปรากฎว่า ต้องออกแรงเยอะ  ลักษณะแบบนี้ตัวการมักเกิดขึ้นจากตัว ลิ้นควบคุม (Control Valve)  ถ้าซีลลูกสูบ (Power Cylinder)  ของกระบอกลูกสูบสึกหรอ   หรือสายน้ำมันจากปั๊มที่เข้ามายังตัวลิ้นควบคุม  (Control Valve)  เกิดการรั่วซึม  จะทำให้เกิดความสูญเสียความดันน้ำมันไป  ไม่สามารถช่วยผ่อนแรงได้เต็มที่
ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นการหมุนพวงมาลัยไปทางซ้าย หรือขวา  จะเกิดอาการหน่วงมือกว่าปกติ เช่นเดียวกันทั้งสองด้าน  เมื่อมีอากาศอยู่ในระบบปริมาตรของอากาศ  จะมีการเปลี่ยนแปลง  เมื่อความดันน้ำมันเพิ่มมากขึ้น  เป็นเหตุให้ความดันน้ำมันไม่คงที่  ดังนั้นพวงมาลัยเพาเวอร์ จึงทำงานไม่ถูกต้อง  เพื่อหาว่ามีอากาศอยู่ในระบบหรือไม่   ให้ตรวจดูว่าระดับน้ำมันในถังสำรอง  มีการเปลี่ยนแปลงมากเกินไปหรือเปล่า  เมื่อหมุนพวงมาลัยไปทางซ้ายหรือทางขวาสุด  โดยทั่วไป จะพบว่าเมื่อหักเลี้ยวแล้ว  ระดับน้ำมันในถังสำรอง  จะลดระดับลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำมัน  ขณะที่ล้ออยู่ในทางตรง  แต่จะไม่เกิน 5 มม. ถ้าเกินเลยไปกว่านี้แสดงว่ามีปัญหา  โดยเฉพาะเมื่อพบว่าน้ำมันเป็นฟอง  หรือขุ่น   และบางครั้งอากาศที่มีอยู่ในระบบ  จะเป็นเหตุให้เกิดเสียงผิดปกติขึ้นในปั๊ม   เมื่อหมุนพวงมาลัยไปสุดทั้งสองทิศทาง

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

วิธีเลือกซื้อรถมือสอง

หากจะ  "ซื้อรถมือสอง"  ก็ต้องดูกันให้ละเอียดจริงๆ  ถึงจะตัดสินใจ  ตาดีก็ได้ของดี  เลือกซื้อผิดมา  ก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น   ซ่อมกันไม่รู้จักจบ ก็มีให้เห็นกันเยอะแยะ   แล้วจะไปเรียกร้องอะไรก็ไม่ได้  เพราะซื้อมาแล้ว  เราจะพาไปดูกันว่า  คำว่ารถมือสอง  รถบ้าน   และรถเต็นท์  อันไหนน่าสนใจกว่ากัน
การซื้อขายรถมือสองหลักๆ แล้ว จะมีการซื้อขายอยู่ 2 ประเภท

1.รถบ้าน  คือ รถที่เจ้าของขายเอง หรือ ซื้อขายโดยตรงกับผู้ใช้รถ
2.รถเต็นท์  คือ การซื้อขายกันเป็นธุรกิจ การซื้อขายรถผ่านคนกลาง หรือไม่ใช่โดยตรงกับผู้ใช้รถ

รถบ้านคืออะไร
คือ การซื้อขายโดยตรงกับผู้ใช้รถ  หรือ รถที่เจ้าของขายเอง   ซึ่งรถบ้านจะมีข้อดีก็คือ  การซื้อขายจะได้คุยกับเจ้าของรถโดยตรง  และรู้ว่ารถเป็นอย่างไร  ขับมาเป็นอย่างไร  ปัญหาที่เกิดขึ้น และอื่นๆ   ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อ ได้ข้อมูลที่ชัดเจน และตรงกว่า  คนส่วนใหญ่จึงมีทัศนคติ ที่ดี ต่อรถบ้าน  ทั้งด้านราคา  และสภาพ  คิดว่าไม่น่าจะผ่านนายหน้า  ราคาก็คงไม่แพง (หารู้ไม่ว่าเจ้าของรถบางคน อาจตั้งราคาตามหน้าเต๊นท์ก็เป็นได้)  ส่วนข้อเสียของรถบ้าน  ก็มีอยู่  เช่นกัน  ก็คือจะเป็นการขายตามสภาพ  การซื้อขาย  ไม่มีการรับประกันคุณภาพ  และส่วนมากการซื้อขายแบบนี้  ต้องใช้เวลานาน  เหมาะกับคนไม่รีบร้อนซื้อ  ไม่รีบร้อนขาย

เพราะการซื้อขายรถบ้านั้น  หากซื้อด้วยเงินสด  ก็ไม่มีปัญหา ยุ่งยากอะไร  ต่างกับ ถ้าเป็นการซื้อรถด้วยเงินผ่อน   จะต้องติดต่อสถาบันการเงินเอง  จ่ายเงินดาวน์ กับเจ้าของรถเดิม   และยื่นเอกสาร เพื่อตรวจสอบ ฐานะทางการเงิน  ถ้าฐานะการเงินเพียงพอ  ก็ต้องนำรถไปโอน  เป็นชื่อสถาบันการเงิน  และต้องใช้เวลา กว่า 10 วัน กว่าเรื่องจะอนุมัติ    และได้รับเช็คในส่วนที่ขอกู้  หลังจากตกลงซื้อขาย  เจ้าของรถเดิมก็ไม่อยากวุ่นวาย   จึงต้องทำสัญญาอย่างรัดกุม   เพราะเคยมีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่มีการเซ็นเอกสารโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว   แต่ยังไม่ได้รับเงินส่วนที่เหลือ  การซื้อรถบ้าน  จึงมักนิยมการซื้อด้วยเงินสดมากกว่า

รถเต็นท์คืออะไร
คือ การซื้อขายผ่านคนกลาง   หรือ รถมือสอง  ที่ขายโดยผู้ค้า มีสถานที่ซื้อขายเป็นหลักแหล่ง  สมัยก่อนจะตั้งอยู่ริมถนนมีเต๊นท์ผ้าใบขนาดใหญ่  กางอยู่ให้รถจอด   จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก  "รถเต็นท์"   หรือ เต็นท์รถมือสอง ปัจจุบันเป็นห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์  แต่ก็ยังใช้คำว่า เต็นท์ เหมือนกัน  ส่วนใหญ่ เต็นท์ ที่มีการรับซื้อรถเข้ามา และขายออกไป  จะมีการบริการ  หรือดำเนินการ ในการซื้อเงินผ่อน  มีทั้งการใช้เงินส่วนตัวปล่อยกู้  หรือ  อำนวยความสะดวก  โดยติดต่อสถาบันการเงินให้  จ่ายเงินดาวน์  เซ็นเอกสาร  และขับรถออกมาได้เลย   ไม่ต้องรอการดำเนินเรื่องให้เสร็จทุกขั้นตอน   นับเป็นการบริการ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก  สำหรับคนที่จะซื้อ รถมือสองด้วยเงินผ่อนเป็นอย่างมาก

ซื้อรถมือสองต้องปรับสภาพ
รถเต็นท์  มีการปรับสภาพรถก็จริง  แต่มักเป็นการทำโดยผิวเผิน อย่าง หยาบๆ หรือ น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อให้ผู้ซื้อดูดี  แต่เสียค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพน้อยที่สุด
ส่วนรถบ้าน  ถ้าส่วนที่เสีย หรือกำลังจะเสีย  ไม่เป็นที่สังเกตเห็น จนน่าเกลียด  หรือขับแล้วรู้เลย  ก็มักจะไม่เสียเงินซ่อมก่อนขาย ปล่อยให้เป็นภาระแก่ผู้ซื้อ   หรือแม้แต่มีส่วนที่เสียที่ชัดเจน  ก็มักจะใช้วิธีลดราคา ให้ผู้ซื้อไปซ่อมเอง

ไม่ว่าจะซื้อรถเต็นท์  ที่จอดอยู่ไม่รู้กี่วัน  หรือ ซื้อรถบ้านจากเจ้าของโดยตรง  แต่ในเมื่อเป็นรถใช้แล้ว  ก็ไม่ทราบว่าจะมีอะไรใกล้หมดสภาพในอีกไม่นาน  โดยส่วนใหญ่  รถมือสองที่แม้ผู้ขาย จะบอกว่ามีสภาพพร้อมใช้  แค่เติมน้ำมันแล้วก็ขับได้เลย  หลังซื้อมา ก็ควรจะตรวจสอบ หรือปรับสภาพ   เพื่อให้ใช้งานได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ระยะทางบนหน้าปัด  หรือ เรียกกันว่าเลขไมล์  (ทั้งที่หน่วยเป็นกิโลเมตร)  ผู้ขาย โดยเฉพาะเต็นท์  มักจะเขี่ย หรือปรับลดไมล์   เพื่อให้ดูเป็นรถใช้น้อย  สามารถเพิ่มราคา   หรือเพิ่มความน่าสนใจขึ้นได้   และปัจจุบันนี้  ไม่ใช่เฉพาะเต็นท์เท่านั้น ที่ทำอย่างนี้  เจ้าของรถบ้าน ที่รู้มากหลายคนก็ทำเช่นกัน   เพราะมีประกาศรับบริการในราคาไม่แพง   ตามนิตยสารรถรายสัปดาห์ทั่วไป  ถ้าเป็นคันที่ถูกปรับลด เลขระยะทางบนหน้าปัดลงไปโดยผู้ซื้อไม่ทราบ   นับว่าน่ากังวล  เช่น  ระยะทางที่ใช้จริง 100,000 กิโลเมตร   ซึ่งต้องเปลี่ยน  สายพานไทม์มิงแล้ว แต่ยังไม่ได้เปลี่ยน   แล้วถูกลดเลขไมล์ บนหน้าปัดเหลือ 80,000 กิโลเมตร   อย่างนี้ก็เสี่ยงมาก  กับสายพานที่จะขาด  หากใช้ต่อไปอีก 20,000 กิโลเมตร   ระยะทางที่แท้จริงของรถ  ที่ถูกลดเลขไมล์  สามารถทราบได้ยาก   นอกจากจะบังเอิญว่า  รถคันนั้นเข้าศูยน์บริการเป็นประจำ  และสมุดจดคู่มือยังอยู่  ก็สามารถโทรศัพท์เข้าไปสอบถามที่ศูนย์บริการนั้นได้ว่า  เคยซ่อมอะไรมาบ้าง   และระยะทางล่าสุดเท่าไร  เมื่อไร

ขัดสี   รถที่ผ่านการใช้งานมา  แม้จะได้รับการดูแลรักษาที่ดี   แต่ก็ต้องมีคราบสกปรก เกาะบ้างไม่มากก็น้อย   จึงไม่ใช่แค่ขัดเคลือบด้วยตัวเอง  แต่ แนะนำให้เข้าอู่สีให้ขัดสีใหม่ทั้งคัน   เอาคราบไคลสกปรกออก  แล้วเคลือบ  แล้วค่อยนำกลับมาเคลือบเงาเอง  ด้วยน้ำยากระป๋องละไม่กี่ร้อยบาท
เปลี่ยนของเหลว  ของเหลวทุกชนิด ยกเว้นน้ำกลั่น + น้ำกรดในแบตเตอรี่  และน้ำฉีดกระจก   ควรเปลี่ยน  น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์  น้ำมันเบรก  น้ำมันคลัตช์   น้ำหม้อน้ำ

สารพัดไส้กรอง   ไส้กรองอากาศ  ที่จะมีผลต่อการหายใจเข้าของเครื่องยนต์   ไส้กรองน้ำมันเครื่อง  ต้องเปลี่ยนพร้อมน้ำมันเครื่องอยู่แล้ว   ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง   เพื่อการไหลของน้ำมันที่คล่องตัว
สายพานต่างๆ  ถ้า จะตัดปัญหา  ก็ควรเปลี่ยนให้ครบ  ทั้งสายพานนอกเครื่อง   และสายพานไทม์มิง (ถ้ามี)  หากสายพานเดิมมีสภาพยังดี   ก็ใส่ถุงเก็บสำรอง ไว้ท้ายรถ  เพื่อเป็นอะไหล่เมื่อเดินทางไกล
ยางแท่นเครื่องแท่นเกียร์   ถ้าร้าวหรือขาด  ให้เปลี่ยนใหม่   ส่วนจะเป็นของใหม่แท้จากศูยน์บริการ   ของเทียบใช้   หรือของเชียงกง   ก็ตามสะดวก สำหรับรถญี่ปุ่น  ยางแท่นเครื่องเชียงกงที่มีสภาพดีๆ   ก็น่าสนใจ   เพราะมีราคาถูกมาก   แต่ใช้งานได้อีกนานพอสมควร

ท่อยางหม้อน้ำ    ถ้าดูที่ยางที่ติดรถมาแล้ว  มีสภาพไม่น่าไว้ใจ เริ่มแข็งกรอบ หรือร้าว ก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ในราคาไม่แพง สำหรับของเทียบคุณภาพดี แล้วเก็บของเดิมไว้ท้ายรถ เพื่อเป็นอะไหล่เมื่อเดินทางไกล

ระบบเบรก และผ้าเบรก   รถแล่นได้ ก็ต้องหยุดได้ดี  และปลอดภัย ในการเปลี่ยนน้ำมันเบรก  ต้องไล่น้ำมันเก่าออกจากลูกสูบเบรกทุกล้อ  ให้ตรวจสอบการรั่วซึมของ ลูกยางเบรก  สายอ่อนเบรก  และการเปื่อยขาดของ  ยางกันฝุ่น  ผ้าเบรกใกล้หมดหรือยัง   ถ้าบางแล้วก็ควรเปลี่ยน โดยสามารถเลือกได้หลายยี่ห้อ  อย่างรอบครอบ  ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าเบรกแท้จากศูยน์บริการ

ระบบช่วงล่าง   เป็นปัญหาที่พบบ่อย  ในรถมือสองทั่วไป ช่วงล่างมีเสียงดัง  แข็งกระด้าง หรือยวบยาบ  ถ้าไม่ได้สนใจจุดนี้เป็นพิเศษ  ก็แค่ทดลองขับดูว่ามีเสียงรบกวนไหม  และการทรงตัวดีหรือไม่   แต่ถ้าอยากใช้งานให้สมบูรณ์จริงๆ   ควรตรวจสอบอย่างละเอียด  ทั้งแบบ ถอดล้อขึ้นแม่แรง   โยกชิ้นส่วนดู  หรือถอดออกมาจากรถ   เพื่อตรวจสภาพอย่างละเอียด  หากเป็นรถญี่ปุ่นรุ่นที่มีอะไหล่เชียงกง  ในราคาไม่แพง  หลายชิ้นอาจตัดปัญหา  โดยซื้อเปลี่ยนยกชุดเลยก็ได้ ราคาของปีกนก  โช้คอัพ  และอะไหล่ปลีกย่อย ของรถญี่ปุ่นบางรุ่น   มีราคาของเชียงกงรวมแถวๆ  หนึ่งหมื่นบาทเท่านั้นเปลี่ยนแล้วถึงแม้จะขับไม่เหมือนรถใหม่ 100%  แต่ก็ดีขึ้นเยอะ  และใช้งานต่อไปได้อีกนาน   การตัดสินใจเปลี่ยนชิ้นส่วนของช่วงล่าง แบบยกชุดหรือไม่   ขึ้นอยู่กับสภาพของชิ้นส่วนเดิม  และราคาของชิ้นส่วนใหม่   หากไม่แพง ก็ยกชุดไปเลย หากแพง ก็ตัดสินใจจากสภาพของชิ้นส่วนเดิมอย่างรอบครอบ

เพลา และยางหุ้มเพลา   รถขับเคลื่อนล้อหน้า มีเพลาขับ 1 แท่ง (4หัวเพลา) เลี้ยววงแคบ  แล้วมีเสียงดัง ก๊อกๆ หรือไม่ ถ้ามีเสียงดังต้องเปลี่ยนเพลา  จะเลือกของแท้จากศูนย์บริการ  เทียบใช้เฉพาะตัวหัวเพลา  หรือของเชียงกง  ก็ตามสะดวก ถ้ายางหุ้มเพลาขาด  ต้องถอดมาทำความสะอาด  เปลี่ยนยางหุมเพลา พร้อมจารบีใหม่ ยางหุ้มเพลาของเทียบ ใช้อันละไม่กี่ร้อยบ้างก็ได้  บางยี่ห้อก็น่าใช้ เพราะทนทานคุ้มค่ากับราคา

ตู้แอร์   ดูว่าลมแรง และมีกลิ่นหรือไม่  หากไม่แน่ใจว่าสกปรกหรือไม่  ล้างตู้แอร์ไปเลยก็ดี  เพราะเกี่ยวข้องกับความสะอาดของอากาศที่จะหายใจเข้าไป

เบาะและพรม   ทำความสะอาดเองได้ไม่ยาก  โดยใช้โฟมสเปรย์ฉีด  แล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดโฟม  และคราบสกปรกออก  แต่ถ้าไม่อยากทำเอง  ก็สามารถเข้ารับบริการได้ตามคาร์แคร์ทั่วไป

ฟิล์มกรองแสง  ดูสภาพทั้งความใส  และฟองอากาศของฟิล์มกรองแสงเดิมที่ติดอยู่(ถ้ามี)   การเปลี่ยนฟิล์มกรองแสงใหม่  ต้องเสียเงินหลายพันบาทก็จริง  แต่การขับรถที่มีฟิล์มมัวๆ ก็ไม่ปลอดภัย  และขาดความสวยงาม

การลดค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพ   ถ้าสะดวก มีความรู้เรื่องรถพอสมควร  และมีอู่ที่ยินดีให้ซื้ออะไหล่ไปเองได้  ก็สามารถแวะไปร้านอะไหล่  ตามห้องแถวทั่วไป หรือเชียงกง เพื่อซื้ออะไหล่ หรือถ้าไม่สะดวกซื้ออะไหล่เอง  ก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย  โดยการเลือกซื้ออะไหล่ อย่างรอบครอบ ว่าชิ้นใดควรซื้ออะไหล่แท้  เทียบ  เทียม   หรือเชียงกง   อาจดูเหมือนยุ่งยากในการปฎิบัติ  แต่โดยทั่วไปหลังการซื้อรถมือสองมาแล้ว  ก็ใช้ไปซ่อมไป อะไรเสีย ก็ถึงจะซ่อม  อย่างมากก็เปลี่ยนแค่น้ำมันเครื่องเท่านั้น  แต่หากยอมเสียเงิน เสียเวลา ในการเปลี่ยนแค่ครั้งเดียว ก็จะใช้งานได้อย่างสบายใจมากขึ้น
รถบ้าน หรือ รถเต็นท์  นั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจเลือกซื้อรถ  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ  การศึกษารถ ก่อนซื้อ รวมถึงราคาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่มากกว่า

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

เปลี่ยนผ้าเบรค ต้องรันอินไหม

"เปลี่ยนผ้าเบรค" ต้องรันอินไหม คงเป็นคำถามคาใจของใครหลายๆ คน คำว่า  "รันอิน"  เราจะได้ยิน  เมื่อเราซื้อรถใหม่มา  หรือ เพิ่งฟิตเครื่อง  (Overhaul)  มาใหม่ เคยได้ยินใช่ไหม   ต้องรันอินก่อนนะ กี่ กม. ก็ว่ากันไป  แต่การรันอิน  ไม่ใช่เฉพาะส่วน  ของเครื่องยนต์เท่านั้น  "การเปลี่ยนอะไหล่เกือบทุกชนิดต้องมีการรันอิน"   เพราะว่าของทุกชนิด  จะต้องมีการ Set up ตัวมันเอง   เพื่อการใช้งาน อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในตอนแรก  ของที่ผลิตมาใหม่ พูดจาภาษาเราๆ   ก็คือ  "มันยังไม่เข้าที่"  เหมือนร่างกายคนเรา  คุณตื่นนอนมา  ก็ต้องบิดขี้เกียจ   ต้องนั่งตั้งตัวสักหน่อย  ก่อนจะดีดตัวไปล้างหน้า  อาบน้ำ  กินข้าว   ก่อนปฏิบัติภารกิจประจำวัน   ถ้าผมปลุกคุณขึ้นมา  แล้วให้คุณทำงานทันที   ให้วิ่งทันที รับได้ ร่วง แน่นอน พูดง่ายๆ  ก็คือ  ของทุกอย่างที่เปลี่ยนเข้าไป  จะต้องมีระยะเวลารันอิน   หรือ "ปรับสภาพ"  นั่นเอง   ผ้าเบรกก็เช่นเดียวกัน   ตอนมาแรกๆ  ดูจะดีนะ  แต่ดูดีๆ ผิวหน้าจะ  "มัน" จากสารเคลือบต่างๆ   ที่ทางผู้ผลิตใส่มา  และ  เนื้อผ้าเบรกเอง  ก็ยังไม่เคยผ่านมือชายใด  พูดง่ายๆ ยัง จิ้น อยู่น่นเอง  ตอนใส่ไปแรกๆ จะรู้สึกเบรกไม่ค่อย  "จึ้ก  เท่าที่ควร   หน้าผ้าเบรก ยังสึกไม่เสมอกับจานเบรก   เนื้อผ้าเบรกยัง  ลื่น และ มัน  จะต้อง  "ใช้ให้สึกไประยะหนึ่งก่อน" คราวนี้เบรกจะอยู่ได้ดีแล้ว   มันจะต้องสึกนิดนึงนะ ถึงจะมี  "ความฝืด"  ที่เพิ่มขึ้น

การรันอินผ้าเบรก   ก็ไม่มีกฎเกณฑ์มากมาย  เพียงแต่ว่า  "อย่าใช้ผ้าเบรกรุนแรงในระยะแรก"  คุณขับ  และเบรกตามปกติ   จับอาการก่อนว่าเป็นยังไง   ใช้เบรกด้วยความนุ่มนวล  ก็อยู่ได้แล้ว   คุณจะรู้เองว่าใช้ไปแล้ว   เบรกจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ   และ ระวัง พวก ช่างลองรถไม่เป็น  เปลี่ยนผ้าเบรกใหม่  เอารถลูกค้าออกไปลองเบรก    ไปหวดซะเร็ว แถมกระทืบเบรกแรงๆ   หลายๆ  ที  เพื่อลองเบรก   ก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร   เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ  ผ้าเบรกจะไหม้เอา ต้องระวังพวกนี้ให้ดี

ไม่เฉพาะผ้าเบรก  ยางรถยนต์  เมื่อเปลี่ยนมา  ก็ต้องมีการ  รันอิน เช่นเดียวกัน  ยางใหม่ ยังมีอาการลื่นอยู่  ไม่เชื่อก็ลองขับดู  เป็นห่วงบางท่าน  เปลี่ยนยางใหม่ออกมา ก็เหนี่ยวซะเลย  เย็นไว้ก่อน วิ่งให้มันเซ็ตตัวสักระยะหนึ่ง  เมื่อหน้ายางเข้าที่แล้ว   ก็จะเกราะถนนขึ้น  รถแข่ง เปลี่ยนยางใหม่ซิงๆ  เข้ายังต้อง รันอิน ก่อนเลย  รถบ้านก็เหมือนกัน  ยังไงมัน ก็คือยางนั่นแหละ
 
การเจียจาน   ก็คือ  "การปรับหน้าสัมผัส จานเบรกให้เรียบ"   จริงๆ แล้ว  "ไม่จำเป็นต้องเจียทุกครั้ง"   หลายคนอาจจะคิดว่า  ตอนเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่  ที่มีหน้าเรียบ ก็ควรจะเจียจานเบรก  ให้เรียบตามไปด้วย   คิดอย่างนั้นก็ใช่   แต่ถ้าคิดอีกมุม   เมื่อเรา รันอินผ้าเบรกเรียบร้อย  มันสึกเข้าที่เข้าทาง  เข้าร่องเข้ารอย  ไปกับหน้าสัมผัสของจานเบรกเอง  หาก ไม่มีอาการเบรกสั่น  ก็ไม่ต้องกังวลอะไร   การเจียจานนั้น   ควรจะทำด้วย เหตุจำเป็น    เช่น  มีอาการ  "จานเบรกคด"   เป็นไปได้เนื่องจากบางที ใช้งานหน้าฝน วิ่งมาร้อนๆ โดดลงแอ่งน้ำ  น้ำโดนเบรก  ก็จะทำให้เกิดอาการคดขึ้นได้  ก็ต้องเจียให้เรียบ  แต่ถ้าคดมากๆ   ก็ควรจะเปลี่ยน

อีกประการ  หากจานเบรกเป็น  "รอยลึก" (Groove)   เหมือนแผ่นเสียง จะเจียให้เรียบสักทีก็ไม่ผิดกติกา    ข้อควรระวัง   ในการเจียจานเบรก  หรือ แม้กระทั่งเจียด้านในของดรัมเบรก   ถ้าหากมัน  "บางเกินไป"   ก็จะทำให้เกิดอันตรายได้  ต้องพิจรณาดูให้ดี  ไม่ใช่เอาแต่เจียจนบาง  ก็ยังจะใช้ต่ออีก  จะต้องเปลี่ยนใหม่เท่านั้น

วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

วาล์วน้ำในเครื่องยนต์ สำคัญอย่างไร

"วาล์วน้ำในเครื่องยนต์" สำคัญอย่างไร ระบบระบายความร้อน ของรถยนต์ทั่วไปนั้น  ประกอบไปด้วย อุปกรณ์หลายชิ้นส่วน  คือ  หม้อน้ำ พัดลมระบายความร้อนทั้งแบบกลไก หรือใช้ไฟฟ้า ปั๊มน้ำ ท่อยางน้ำต่างๆ วาล์วน้ำ ฝาหม้อน้ำ ถังพักน้ำ และอื่นๆ   โดยอุปกรณ์ต่างๆ   เหล่านี้ทำงานประสานกัน  โดยทำหน้าที่แตกต่างกันไป   ซึ่งผลลัพธ์คือทำให้ การระบายความร้อนของเครื่องยนต์   เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิต

แม้ว่าชิ้นส่วน ในการระบายความร้อน ของเครื่องยนต์จะมีจำนวนหลายชิ้น   แต่วันนี้ จะนำผู้ใช้รถมาทำความรู้จัก กับ "วาล์วน้ำ"   หรือ ทางเทคนิคเรียกว่า เทอร์โมสตัท (Thermostat)  ว่า มีหน้าที่ในการทำงานอย่างไร  สำคัญแค่ไหนต่อระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์

"วาล์วน้ำในเครื่องยนต์" หรือ ทางเทคนิคเรียกว่า เทอร์โมสตัท (Thermostat)   มีหน้าที่หลัก  คือ ทำหน้าควบคุมอุณหภูมิ  ของน้ำหล่อเย็น  ในระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์   โดยวาล์วน้ำนี้ จะคอยเปิด-ปิด  การไหลเวียน ของน้ำในเครื่องยนต์ หรือ เป็นตัวกั้นทางเดินของน้ำหล่อเย็น  ที่จะไหลเข้าไปยังหม้อน้ำที่อยู่ด้านหน้าของรถ    ทั้งนี้เพื่อให้น้ำหล่อเย็นมีอุณหภูมิสูงขึ้น  จนถึงอุณหภูมิการทำงาน  ที่กำหนดโดยผู้ออกแบบเครื่องยนต์ จากนั้น  ตัววาล์วน้ำจึงทำหน้าที่เปิดให้น้ำที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นนั้นไหลออกไปยังหม้อน้ำ   โดยที่หม้อน้ำ จะเป็นตัวทำหน้าที่ลดอุณหภูมิ   ของน้ำหล่อเย็นอีกทีหนึ่ง

ดังนั้นวาล์วน้ำ จะทำงาน (เปิด-ปิด)   ตามอุณหภูมิ ที่กำหนดไว้ เช่น ที่อุณหภูมิ 80 หรือ 85 องศาเซลเซียส    โดยจะค่อยๆ เปิด  และจะเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ หรือสุดที่อุณหภูมิ  ประมาณ 100 องศา   แต่การกำหนด  ค่าการเปิดของวาล์วน้ำนั้น   จะมีค่าอุณหภูมิที่ไม่เท่ากัน   แล้วแต่ชนิดเครื่องยนต์  หรือขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต   จึงไม่สามารถนำมา เป็นเกณฑ์มาตรฐานได้     ซึ่งต้องดูจากสเปคของเครื่องยนต์นั้นๆ   โดยบางเครื่องอาจกำหนดไว้   เช่น  80, 83, 85 ,88   องศาเซลเซียส   เป็นต้น   หรือสามารถดูได้ที่เลขที่ปั๊ม   หรือพิมพ์บนตัววาล์วน้ำได้ เช่นกัน
 
ผู้ใช้รถบางท่าน  อาจสงสัยว่า  อุณหภูมิ ของน้ำในระบบหล่อเย็น  ในเครื่องยนต์นั้น  สูงถึง 100 องศาเซลเซียส   หรือเกินร้อย ได้เชียวหรือ    จริงๆ แล้วอุณหภูมิ ระดับนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ   โดยเฉพาะ  รถยุโรป   เนื่องจากในระบบน้ำหล่อเย็นนั้น เป็นระบบปิด  และมีการสร้างแรงดัน  ภายในระบบ   โดยใช้ฝาหม้อน้ำเป็นตัวกักแรงดัน  ดังนั้นน้ำจะไม่เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศา อย่างแน่นอน    แต่ถ้าระบบหล่อเย็นมีจุดใดจุดหนึ่งรั่ว   น้ำจะสามารถเดือด ที่อุณหภูมิ 100 องศา  ได้นั่นเอง นอกจากเป็นตัว เปิด-ปิด ให้น้ำไประบายที่หม้อน้ำ   ตัววาล์วน้ำ  นั้นยังเป็นตัวที่สำคัญ  ที่คอยควบคุมอุณหภูมิ  ของเครื่องยนต์ไว้ให้เหมาะสมด้วย    เช่น ควบคุมให้อุณหภูมิ  เครื่องยนต์  อยู่ระหว่าง 85-100 องศา   ถ้าเครื่องยังไม่ร้อนจะปิด  ให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น แล้วค่อยๆ เปิด พยายามเปิด-ปิด   ตลอดเวลา มากน้อย ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ

ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องยนต์นั้น  มีการเผาไหม้สมบูรณ์ที่สุด   มีการนำเอาพลังงานความร้อนมาใช้  ให้เหมาะสมที่สุด   รวมถึงการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่สุดด้วย   การที่ทำให้เครื่องยนต์เย็นเกินไปนั้น  ไม่ทำให้เกิดผลดี   แต่จะทำให้เกิดผลเสียด้วยซ้ำไป   โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้รถ หรือแม้แต่ช่างเอง    จะเน้นเอาการระบายที่ดีกว่าปกติ  เช่น  ทำให้หม้อน้ำใหญ่ขึ้น    ติดพัดลมไฟฟ้าเพิ่ม หรือช่างบางคน  ถอดเอาวาล์วน้ำออกเลยก็มี   นั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้ออกแบบเครื่องยนต์  เขาต้องการให้อุณหภูมิของเครื่องยนต์ หลังการสตาร์ท มีอุณหภูมิสูง ถึงอุณหภูมิการทำงานให้เร็วที่สุด    ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์นั้น เกิดขึ้นเร็วที่สุด แต่การถอดวาล์วน้ำออก   อาจใช้เวลานานถึง 10 นาที  หรือมากกว่า ที่จะทำให้เครื่องยนต์   ถึงอุณหภูมิการทำงาน    ซึ่งในช่วงเวลานั้นการเผาไหม้จะไม่สมบูรณ์   ทำให้เกิดแก๊สไอเสีย   ที่เป็นพิษออกมาจากเครื่องยนต์มากมาย
 
ปัญหาการทำงานของ "วาล์วน้ำในเครื่องยนต์" ที่ผิดปกติ
ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้น  กับวาล์วน้ำ  มักจะเกิดขึ้น  กับรถ  ที่มีอายุการใช้งานนานพอสมควร   หรือ  อย่างน้อย 4-5 ปี ไปแล้ว   เมื่อวาล์วน้ำ  เริ่มมีปัญหาจะแสดงอาการ ให้เจ้าของรถเห็น คือ

1. อุณหภูมิของเครื่องยนต์ จากเดิมที่ขึ้นอยู่นั้น  จะสูงขึ้นผิดปกติ จนผิดสังเกต     ทั้งนี้ เนื่องจากว่า วาล์วน้ำ  นั้นไม่สามารถเปิดให้น้ำไหล วนมายังหม้อน้ำได้สะดวก     ทำให้การระบายความร้อนไม่ดีเท่าที่ควร

2. อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นตรงกันข้ามคือ ความร้อนขึ้นช้ากว่าปกติ   และยังขึ้นไปถึงในระดับปกติได้  แต่เมื่อรถได้วิ่งในระยะทางยาว   เข็มความร้อนจะตกลงมามาก  พอรถชะลอ  หรือหยุดวิ่ง  ความร้อน จะกลับขึ้นมาอีกครั้ง   ซึ่งอาการนี้แสดงให้เห็นว่าความร้อน   มีค่าการเปลี่ยนแปลงมาก (ไม่คงที่)   ปกติความร้อนของเครื่องยนต์    ไม่ควรเปลี่ยนแปลงมาก ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งหรือจอด   อาการดังกล่าว   คาดเดาได้ว่า วาล์วน้ำ นั้น อาจจะเปิดค้างอยู่   ทำให้การควบคุมอุณหภูมิทำได้ไม่ดีพอ
 
วิธีตรวจเช็ค และการดูแลรักษา "วาล์วน้ำในเครื่องยนต์"
การตรวจเช็คทั่วไป   ต้องยกให้เป็น  หน้าที่ของช่างผู้ชำนาญการ  เนื่องจากโดยปกติแล้ว   จะไม่มีการตรวจเช็คชิ้นส่วนนี้โดยเฉพาะ  ส่วนใหญ่  เมื่อเกิดปัญหา เรื่องความร้อนขึ้นผิดปกติ    จึงทำการตรวจเช็คตัววาล์วน้ำ   ตัวนี้ไปด้วย

วิธีแรก คือต่อกระบอกน้ำ  ขึ้นมาจากหม้อน้ำ  หรือที่หม้อพักน้ำ (ใช้เครื่องมือพิเศษ)  และดูว่าน้ำ มีการไหลเพิ่มเติมขึ้น หรือลดลง  หรือไม่ ตามอุณหภูมิการเปิด-ปิดของวาล์ว   เป็นต้น

วิธีที่สอง คือ ถอดตัววาล์วนี้ออกมา  โดยทดสอบด้วยการต้มในน้ำ ที่มีอุณหภูมิ ให้สังเกตดู  การเปิด-ปิด ของวาล์ว    หากต้มจนน้ำเดือด  แล้ววาล์ว เปิดน้อยหรือไม่เปิด   ถือว่าวาล์วน้ำนั้นเสีย  ให้เปลี่ยนตัวใหม่   เพราะถ้าวาล์วนี้เปิดน้อย  หรือไม่เปิดความร้อน จะขึ้นไปเรื่อยๆ  ทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้
อย่างไรก็ตาม  ช่วงหน้าร้อนนี้ ควรเป่าทำความสะอาดรังผึ้ง หม้อน้ำ ที่อยู่ด้านหน้ารถให้สะอาด เพื่อการระบายความร้อน ที่ดีขึ้น   เนื่องจากช่วงนี้  อุณหภูมิภายนอนค่อนข้างสูง  การระบายความร้อนที่ไม่ดีพอ   จะทำให้เกิดปัญหา  ทั้งเครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงกว่าเดิม   รวมถึงระบบปรับอากาศจะไม่เย็นตามไปด้วย

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

มาเรียนรู้เรื่องของ ไส้กรอง กันเถอะ

"ไส้กรอง"  หมายถึง  วัสดุที่ใช้ในการกรองอยู่ภายใน  อาจมีท่อที่กรองอยู่ภายในหรือไม่มีก็ได้   มีลักษณะมีฝาปิดครอบอีกที   ซึ่งไส้กรองที่เรารู้จักกันอยู่ในรถยนต์  เช่น  ไส้กรองน้ำมันเครื่อง  ไส้กรองอากาศ   ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง  ไส้กรองน้ำมันเกียร์ (อัตโนมัติ) ไส้กรองแอร์  เป็นต้น จะเห็นได้ว่าไส้กรองนั้น  มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด  แต่ละชนิดจะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป   แต่โดยรวมแล้ว  ไส้กรองมีหน้าที่หลักคือ การกรองสิ่งสกปรกนั่นเอง
               
โดยวันนี้เราจะมาทำความรู้จัก   กับไส้กรอง ที่สำคัญ 3 ชนิด   นั่นคือ  ไส้กรองน้ำมันเครื่อง , ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง  และ ไส้กรองอากาศ

ไส้กรองน้ำมันเครื่อง
หน้าที่หลัก  ของไส้กรองน้ำมันเครื่อง   คือ การกรองน้ำมันเครื่องยนต์  โดยให้น้ำมันเครื่องที่ผ่านการใช้งาน   ที่หมุนวนอยู่ภายในเครื่องยนต์ซึมผ่านกระดาษกรอง  ที่อยู่ภายในไส้กรองน้ำมันเครื่อง  แล้วเข้าไปสู่แกนกลางของตัวกรอง   จากนั้นน้ำมัน จะถูกส่งไปยังชิ้นส่วนต่างๆ ภายใน ของเครื่องยนต์จนทั่ว

ซึ่งน้ำมันเหล่านี้  จะนำเอาสิ่งสกปรก ไม่ว่าจะเป็นเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้  เศษโลหะต่างๆ  ที่เกิดจากการสึกหรอ หรืออื่นๆ ที่ปะปนเข้ามาในน้ำมันเครื่อง   แล้วผ่านมาที่กระดาษกรอง ภายในไส้กรองน้ำมันเครื่อง  กรองสิ่งสกปรก  แล้วส่งกลับไป จะทำลักษณะนี้ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน

ไส้กรองน้ำมันเครื่อง  ที่เราคุ้นเคย  และใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่จะมี 2 ลักษณะ  คือ จะเป็นแบบเหล็กปิดตาย  เมื่อเสื่อมหรือหมดสภาพ จะทิ้งทั้งไส้กรองเลย    ส่วนอีกแบบ จะเปลี่ยนเฉพาะไส้กรอง  ที่เป็นกระดาษกรองเท่านั้น    ฝาครอบที่เป็นเหล็ก  จะยังคงใช้ของเดิมอยู่   ซึ่งมีใช้ในรถยุโรปหลายยี่ห้อ

ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง
หน้าที่หลัก  ของไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง  คือ มีหน้าที่ดักสิ่งสกปรกจากน้ำมันเชื้อเพลิง  เพื่อไม่ให้หลุดลอดเข้าไปในห้องเผาไหม้ อาจเป็นอันตราย  ต่อลูกสูบ แหวน หรือกระบอกสูบได้
ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง  แบ่ง เป็น 2 ชนิด  ตามประเภท  ของเชื้อเพลิงที่ใช้   คือ ไส้กรองน้ำมันเบนซิน     และ ไส้กรองน้ำมันดีเซล

ไส้กรองน้ำมันเบนซิน     ที่ใช้กับเครื่องเบนซิน   ส่วนใหญ่ทำด้วยกระดาษกรอง  พับเป็นครีบ สำหรับคาร์บูเรเตอร์รุ่นเก่า เปลือกนอกของตัวกรอง  มักจะเป็นพลาสติกธรรมดา   บางตัวเป็นพลาสติกสีขุ่น   ซึ่งกรองเบนซิน  ของระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเก่า   หรือคาร์บูเรเตอร์  จะมีแรงดันของปั๊มไม่สูงมากนัก   หรือประมาณ   0.3-0.4 บาร์   หรือ 4-5 ปอนด์/ตร.นิ้ว ส่วนพวกเครื่องเบนซิน  ที่ใช้ระบบหัวฉีด   ซึ่งมีแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงสูง   ประมาณ 3 บาร์  ทำให้เปลือกนอกที่เป็นไส้กรองพลาสติก  อาจจะไม่แข็งแรงทนทาน   และเกิดการแตกหัก ชำรุดเสียหายได้   ผู้ผลิตจึงใช้โลหะ มาทำเปลือกหุ้มแทนพลาสติก   เพื่อให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น   ไส้กรองของเครื่องเบนซินระบบหัวฉีดแบบนี้มี   ชื่อ    อย่างเป็นทางการว่า "ไส้กรองละเอียด"    เพราะจะมีตัว   "ไส้กรองหยาบ"    อีกตัว  อยู่ที่ปั๊มในถังน้ำมันเชื้อเพลิง  ซึ่งจะคอยกรอง  สิ่งสกปรกไว้ชั้นแรกก่อน   และด้วยการที่เป็นไส้กรองหยาบ   โอกาสอุดตันจึงมีน้อย   ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน   หรือดูแลรักษาเป็นพิเศษ

ไส้กรองน้ำมันดีเซล    ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่า   "กรองดักน้ำ"   เพราะนอกจาก กรองสิ่งสกปรกในน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ยังกรอง  หรือดักน้ำ ที่ปะปนมา กับเครื่องดีเซลด้วย   เมื่อไส้กรองเก็บกักน้ำเอาไว้จนเต็ม   จะมีเสียงเตือนให้เจ้าของรถทราบ ว่าต้องมาเปิดก๊อกด้านใต้   เพื่อปล่อยน้ำทิ้งไป ไส้กรองพวกนี้   แม้จะมีอายุการใช้งานยืนยาว   แต่ต้องมีการเปลี่ยนใหม่ด้วยเหมือนกัน    เพราะเมื่อสะสมเอาไว้เยอะ  ย่อมเกิดการอุดตันขึ้นได้มีผลทำให้การส่งน้ำมันขาดตอน   หรือแรงดันลดลง  ไม่สามารถป้อนเชื้อเพลิง  ให้กับเครื่องยนต์   ได้ดีเท่าที่เครื่องยนต์ต้องการ   ทำให้เกิดอาการเครื่องยนต์สะดุด กำลังตก  เร่งรอบไม่ขึ้น   เราจึงควรมีการเปลี่ยนไส้กรอง   ตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ในคู่มือประจำ

ไส้กรองอากาศ
หน้าที่หลักๆ   ของ ไส้กรองอากาศ  คือ  กรองฝุ่นละออง  และสิ่งสกปรกต่างๆ  ที่ปะปนมากับอากาศ   ไม่ให้ไหลเข้าไปในเครื่องยนต์   ถ้าไม่มีไส้กรอง  เพื่อจำกัดสิ่งเหล่านี้  จะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอ   และเสียหายได้ง่าย  นอกจากนั้น  ยังมีหน้าที่ลดเสียงดัง  ของอากาศที่ถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์อีกด้วย

ไส้กรองอากาศ  ที่ใช้กับรถยนต์ในปัจจุบัน ส่วนมากเป็น แบบกระดาษแห้ง  สามารถเป่าทำความสะอาดได้  มีบางชนิดที่เป็นแบบกระดาษเคลือบน้ำมัน  แบบนี้เป่าไม่ได้ จะต้องล้าง  หรือเปลี่ยนใหม่เพียงอย่างเดียว

การตรวจไส้กรองอากาศ   ต้องมีการตรวจเช็คตามระยะเวลา  เพื่อให้มันมีประสิทธิภาพดีที่สุด   ไส้กรองอากาศที่อุดตัน หรือ มีฝุ่นผงติดอยู่มาก สิ่งเหล่านี้จะไปอุดตันปิดกั้น ปริมาณอากาศ ที่ไหลเข้าเครื่องยนต์   อากาศที่เข้าเครื่องยนต์ได้น้อยลง   จะทำให้ส่วนผสมหนาเกินไป   เร่งเครื่องยนต์ไม่ค่อยขึ้น   รอบขึ้นช้า ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง    ทำให้มลพิษของไอเสียเพิ่มขึ้น    ไอเสียมีควันสีดำ   และ ถ้ามีฝุ่นผงเข้าไปในเครื่องยนต์   จะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอ  ได้อย่างรวดเร็ว   ดังนั้นควรทำการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2558

ระบบ "Auto Stop" ประหยัดน้ำมันได้จริงไหม

ระบบ "Auto Stop" ประหยัดน้ำมันได้จริงไหม ตอนนี้คงไม่ต้องบอกว่าน้ำมันแพงขนาดไหน อย่างเก่งก็ลดลงมาให้ดีใจกัน ชั่วครู่ชั่วยาม ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ เผลอหน่อยเดียวราคาก็ขยับพุ่งทะยานขึ้นไปอีก  แถมยังแพงกว่าอีตอนก่อนลดราคาอีกต่างหาก   ด้วยเหตุนี้หากสามารถประหยัดได้ก็ต้องประหยัด ส่วนจะเอารถไปติดแก๊สเพื่อใช้ของถูก หรือไม่ก็แล้วแต่ จะดิ้นรนกันไป

หากพูดถึง  เรื่องของความ "ประหยัด" แล้ว   ส่วนหนึ่ง ก็จะได้มาจาก  วิธีการใช้รถ  บางคน อาจจะใช้วิธี   ออกจากบ้านเร็วกว่าปกติหน่อย   เพื่อหนีรถติดหรือหากรถติด  ก็ยังไม่คับคั่งจนเกินไปนัก  นอกจากใช้เวลาในการเดินทาง น้อยลงแล้ว อัตราสิ้นเปลืองก็ต่ำกว่าเดิมด้วย  การขับก็พยายามขับแบบไปเรื่อยๆ  ไม่หวือหวา เน้นประหยัดเชื้อเพลิงเป็นหลัก   ซึ่งก็พอไปได้ แต่ถ้าจะให้เป็นชิ้นเป็นอัน ก็คงจะต้องเปลี่ยนรถ ไปใช้พวกรถคันเล็ก  เครื่องเล็กหรือหันไปใช้พวก  "ไฮบริด" รถไฟฟ้า  ที่บรรทุกเครื่องชาร์จไฟติดตัว ไปไหนต่อไหนด้วย

พอรถติดมาก ก็ไม่ค่อยมีผลกับอัตราสิ้นเปลืองเท่าไหร่นัก   เพราะจะใช้พลังไฟฟ้า  ในการขับเคลื่อนมากกว่าเครื่องยนต์  แล้วเป็นที่รู้กันอยู่ว่า  ตอนรถจอดพวกรถไฟฟ้าจะใช้พลังน้อยกว่า  ตอนขับเคลื่อน  ดังนั้นรถไฮบริดจึงประหยัดได้เยอะ  และบางคนก็ไม่เปลี่ยนรถ  แต่หันไปคบของถูก  โดยการนำรถไปติดตั้ง พวกอุปกรณ์ PPV  ที่ ทำให้เครื่องยนต์  สามารถใช้น้ำมัน ราคาถูกอย่างแก๊สโซฮอล์  E85 ได้ หรือบางท่านก็หันไปคบกับแก๊สซะเลย

อันที่จริงทางบริษัทรถยนต์  ก็พยายามทำรถ ที่กินน้ำมันน้อยลง  รวมทั้งรถ ที่ปล่อยมลภาวะในระดับต่ำ  อย่างรถขนาดกลางระดับ 2.0L   สมัยก่อนใช้น้ำมันในเมือง  อย่างเก่งก็ 7-8 โล/ลิตร   แต่มายุคหลังนี้  สามารถทำได้ถึง 9 หรือ 10 โล/ลิตร   แต่ก็ไม่ทันกับการขึ้นของราคาน้ำมันที่ขยับตัวไปเร็วกว่า
เพื่อการประหยัดเชื้อเพลิง  และลดการปล่อยมลภาวะ ของเครื่องยนต์   บริษัทรถยนต์ก็ออกแบบรถ ให้มีระบบตัดการทำงานของเครื่องยนต์อย่างอัตโนมัติ

เมื่อรถจอดนิ่งสนิท   อย่างเช่น  ระบบ Auto Stop  ในรถ  Honda Jazz Hybrid   หรือ  Idling Stop  ในรถ  Nissan Almera  และ  ระบบ i-stop ในรถ   Mazda CX-5    ที่ไม่ว่าจะ เป็นการจอดรอสัญญาณไฟแดง  หรือ จอดเพราะการจราจร  ติดขัดรถไม่ยอมขยับก็ตาม    จะทำให้เครื่องยนต์ดับลง   และระบบจะสตาร์ทติดเครื่องอย่างอัตโนมัติ   เมื่อมีการถอนเท้าออกจากคันเหยียบเบรคกดคันเร่ง   ขยับเลื่อนเกียร์ หรือเมื่อมีการขยับพวงมาลัยก็ได้

คราวนี้ก็เกิดเป็นปัญหาคาใจ ขึ้นมาว่า ระบบ "Auto Stop" (การดับเครื่องยนต์)  และมีการสตาร์ทเครื่องยนต์บ่อยๆ  แบบนี้ จะเป็นการช่วยให้เครื่องยนต์ประหยัดขึ้นจริงหรือเปล่า   ซึ่งหากคิดในแง่เหตุผลแล้วก็น่าจะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้จริง   ไม่งั้นทางบริษัทรถ จะติดมาทำไมให้ต้นทุนสูงขึ้น  แล้วความจริงนั้นเป็นประการใด    และหากช่วยประหยัดได้จริง  ถ้ารถเราไม่มีระบบตัดการทำงานอย่างอัตโนมัติ เราจะสามารถ  ใช้วิธีปิดสวิทช์กุญแจดับเครื่องยนต์แทนได้หรือไม่

สมัยก่อนนั้น  การสตาร์ทติดเครื่องยนต์  จะใช้น้ำมันเปลืองมาก   โดยทั่วไป จะใช้อัตราส่วนผสมระหว่างน้ำมัน  กับอากาศค่อนข้างหนา  ประมาณว่า 5-8 ต่อ 1 เมื่อเทียบกับอัตราส่วนผสม   ตอนรถวิ่งแล้ว จะอยู่ที่  15-15.5 ต่อ 1 ซึ่งจะเห็นว่าการสตาร์ทรถนั้น  จะใช้น้ำมันเปลืองเป็นพิเศษ   แต่ลักษณะเช่นนี้  เป็นผลจากการทำงานของเครื่องยนต์    สมัยที่ยังใช้คาร์บูเรเตอร์   เป็นตัวจ่ายเชื้อเพลิง การทำงานจะเป็นแบบกลไกใช้นมหนู  เป็นตัวควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงกับอากาศ

ส่วนปัจจุบันรถใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิง  ด้วยหัวฉีดอิเล็คทรอนิคส์   ซึ่งให้ความแม่นยำสูง  ในการจ่ายเชื้อเพลิงสามารถปรับเปลี่ยนการจ่ายเชื้อเพลิง  ได้ตามที่เครื่องยนต์ต้องการ   ดังนั้น การสตาร์ทติดเครื่องยนต์   จึงไม่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก  เหมือนสมัยใช้คาร์บูเรเตอร์   ถึงแม้ในวงจรสตาร์ทติดเครื่องยนต์ทั่วไป   การสั่งจ่ายเชื้อเพลิง ของหัวฉีดนั้น จะฉีดพร้อมกันทุกหัว  ต่างกับการทำงานปกติ   ที่จะฉีดทีละหัวไล่ตามจังหวะการจุดระเบิด

การสตาร์ทติดเครื่องยนต์   แบ่งออกเป็น  2 อย่าง คือ  สตาร์ทตอนเครื่องเย็น   กับ สตาร์ทตอนเครื่องร้อน   โดยวัดจากอุณหภูมิเครื่องยนต์   หรือน้ำหล่อเย็นนั่นเอง การสตาร์ทติดเครื่องยนต์เครื่องเย็น   จะเป็นการสตาร์ทติดเครื่อง  หลังจากจอดรถเอาไว้นานๆ  โดยไม่ได้ใช้ ทำให้ เครื่องยนต์สูญเสียความร้อน ที่เหมาะสมจากการทำงานไป   อยู่ในอุณหภูมิต่ำกว่าการใช้งานตามปกติ   การจุดระเบิด  เพื่อติดเครื่องยนต์  จึงยากกว่าปกติ   จำเป็นต้องมีการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น   และการเดินเครื่องยนต์  ในรอบเดินเบาก็สูงกว่าปกติลักษณะนี้ จะใช้เชื้อเพลิงสิ้นเปลืองมาก

การสตาร์ทติดเครื่องยนต์ตอนเครื่องร้อน    ซึ่งเครื่องยนต์จะอยู่ ในอุณหภูมิทำงาน   การสตาร์ทติดเครื่องยนต์ก็จะง่ายขึ้น   เนื่องจากชิ้นส่วนของ  เครื่องยนต์ขยายตัวจนลื่นไม่คับตึงแล้ว    การสตาร์ทติดเครื่องยนต์  ไม่จำเป็นต้องจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมากนัก  และไม่ต้องเพิ่มรอบเครื่องให้สูง   เหมือนตอนเครื่องเย็น  ด้วยเหตุนี้การดับเครื่องยนต์  เวลารถจอดรอสัญญาณไฟ   หรือช่วงการจราจร ติดขัด ของพวกรถ   ที่มีระบบตัดการทำงาน ของเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติ    ซึ่งมีใช้อยู่ในรถยนต์หลายยี่ห้อ   จึงเป็นการช่วยประหยัดเชื้อเพลิง  และลดมลภาวะ ที่เครื่องยนต์ ปล่อยออกมาให้น้อยลงได้

จากข้อมูลที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็สามารถสรุปได้ว่า บรรดารถที่ใช้งานกันตามปกติ   หากต้องการ ประหยัดเชื้อเพลิง  และช่วยลดมลภาวะ   โดยการดับสวิทช์หยุดการทำงานของเครื่องยนต์   ช่วงรถหยุดรอสัญญาณไฟ   หรือช่วงที่การจราจรติดขัด รถไม่สามารถขยับเคลื่อนตัว   ก็สามารถช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง   และลดมลภาวะลงได้  แต่อย่าลืมว่า  รถจะต้องมีระบบไฟ  และระบบจุดระเบิดที่ดี   มอเตอร์สตาร์ทยังสามารถใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา   รวมทั้งแบตเตอรี่ก็สมบูรณ์ด้วย  ซึ่งโดยทั่วไปพวกรถที่มีระบบตัดการทำงานของเครื่องยนต์อัตโนมัติ   จะใช้แบตเตอรี่แตกต่างกับพวกรถธรรมดาอยู่บ้าง  เพราะที่แบตเตอรี่   จะมีสติ๊กเกอร์บอกเอาไว้เลยว่า   ใช้สำหรับรถที่มีระบบตัดการทำงานของเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติ   พวก "Auto Stop"  หรือ  "Idling Stop"  แปะติดเอาไว้

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลา "เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง"

จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลา "เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง" ผู้ขับขี่หลายท่าน คงเคยประสบปัญหา ว่าเมื่อไหร่จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง  วันนี้เรามีข้อมูลดีดี  เพื่อเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจมาฝากกัน

"น้ำมันเครื่อง" เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงเครื่องยนต์    หากคุณต้องการให้เครื่องยนต์ทำการได้เต็มประสิทธิภาพตลอดการใช้งาน จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตรถยนต์ระบุไว้ในคู่มือประจำรถ   ซึ่งจะระบุชนิดความหนืด   มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำ   รวมถึงระยะในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องไว้    และอาจดูได้ที่ไฟเตือนให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องออยล์เซอร์วิส (oil service) ที่หน้าปัด   บอกว่าถึงเวลาเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง  และไส้กรองน้ำมันเครื่องได้แล้ว   เพราะรถวิ่งใช้งานมาเกือบจะถึง 10,000 กิโลเมตร   น้ำมันเครื่องมันเก่าคุณสมบัติในการหล่อลื่นจะลดลง   อันมีผลทำให้เครื่องสึกหรอ  หรือเครื่องหลวมเร็วขึ้น   หรือบางทีมีสิ่งสกปรกมาก  ก็อาจทำให้ไส้กรองตัน  การไหลของน้ำมันหล่อลื่นไม่สะดวก  แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับรถที่ใช้งานหนักที่ควรจะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องให้เร็วกว่าปกติ

แต่ในปัจจุบันผู้ผลิตได้พัฒนา  คุณภาพด้านการใช้งาน  ของน้ำมันเครื่องให้สูงขึ้นตามมาตรฐานสากล   โดยมีการผสมสารเพิ่มคุณภาพทำให้เหมาะสม   กับการใช้งานของเครื่องยนต์   และมีอายุการใช้งานเพิ่มมากขึ้น   ทำให้ระยะเวลาที่จะทำให้เราตัดสินใจเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแตกต่างกันออกไป  องค์ประกอบทั่วไปที่สามารถใช้ในการตัดสินใจในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง คือ ระยะทางและเวลา (ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งใดครบกำหนดก่อน) รวมถึงสภาพในการใช้งาน ดังนี้

ระยะทาง   เกี่ยวข้องกับชนิดของน้ำมันเครื่องเช่น
 - น้ำมันเครื่องแบบธรรมดา กำหนดเปลี่ยนถ่ายอยู่ที่ 5,000-5,500 กิโลเมตร
 - น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ หรือน้ำมันเครื่องแบบสังเคราะห์ กำหนดเปลี่ยนถ่ายอยู่ที่ 10,000-15,000 กิโลเมตร

ระยะเวลา   รถยนต์บางคันจอดรถทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานๆ แม้ว่าจะไม่ใช้งานเลย แต่น้ำมันเครื่องก็สามารถเสื่อมสภาพลงได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายตามระยะเวลา แม้ระยะทางจะยังไม่ครบกำหนดเลยก็ตาม ซึ่งมีการกำหนดเวลาต่างๆ ไว้ดังนี้
 -น้ำมันเครื่องธรรมดา กำหนดเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 3 เดือน
 -น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ หรือแบบสังเคราะห์ กำหนดเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 6 เดือน

สภาพการใช้งาน ที่ส่งผลโดยตรง และเกี่ยวข้องกับระยะทาง/ระยะเวลาที่ใช้น้ำมัน   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การใช้รถในสภาพการจราจรที่ติดขัด   เส้นทางที่เต็มไปด้วยฝุ่น  และรถยนต์ที่ใช้งานหนัก   เช่นบรรทุกของหนัก,ขับรถลุยน้ำท่วม หรือเครื่องยนต์ที่ต้องการความเร็วสูงสุด เช่น รถแข่ง     ซึ่งต้องมั่นใจว่าคุณสมบัติของน้ำมันเครื่องที่ใช้จะต้องไม่ลดลง   จึงควรที่จะต้อง "เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง" ก่อนถึงกำหนดตามระยะทาง  หรือเร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนดรวมถึงเครื่องยนต์ที่มีการดัดแปลงมาใช้กับก๊าซธรรมชาติ  หรือก๊าซหุงต้ม ยิ่งต้องดูแล และทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเร็วกว่า ระยะทาง ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เนื่องจากอุณหภูมิในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์เหล่านี้จะสูงกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไป
ในกรณีที่เป็นรถจอดมากกว่าวิ่ง อย่างน้อยๆ ก็ควรที่จะ "เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง" ทุกๆ 6 เดือน เพราะทุกครั้งที่เครื่องยนต์ทำงาน ภายในเครื่องยนต์จะมีคราบเขม่า  และความชื้นจากการเผาไหม้ตกค้างอยู่  และความชื้นกับชิ้นส่วนต่างๆ ที่เป็นโลหะนั้นก็ไม่ค่อยจะถูกกัน ถึงจะจอดนิ่งๆ ก็เลี่ยงเรื่องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันไม่ได้เหมือนกัน

แถมทริปวิธีการเข็นรถ
มารู้จัก "วิธีการเข็นรถ" ที่ถูกต้องกันเถอะ บางครั้งเมื่อจอดรถทิ้งไว้ กลับมาอีกที "รถสตาร์ทไม่ติด" แบตหมด คือต้นตอของปัญหาในสังคมปัจจุบัน  กระแสลูกผู้ชายตัวจริงกำลังมาแรง   เพราะฉะนั้นความมีน้ำใจของไทย คงจะหากันได้ไม่ยาก ทำให้ในทุกวันนี้หลายๆ คน  ที่รถเสีย  หรือรถสตาร์ทไม่ติดแล้วต้องเข็น  มีความอุ่นใจกันมากขึ้น ว่าจะต้องมีคนมาช่วยเข็นอย่างแน่นอน   แต่ถ้าไม่มีคนมาช่วยล่ะ  ร่างกายของคุณจะพร้อม หรือเปล่าสำหรับการเข็นรถ  การเข็นรถให้ประหยัดแรงมากที่สุด  มันก็มีวิธีที่ถูกต้องตาม หลักการเหมือนกัน  ไม่ใช่ว่าเข็นกัน โดยไม่มีความรู้ มีหวังเข็นกันแย่

วิธีการเข็นรถที่ถูกต้องตามหลักการ (ใช้ได้กับเกียร์กระปุกเท่านั้น)
ในเวลาที่ทำการเข็นรถ  เพื่อให้เครื่องนยนต์มันติดนั้น   อย่างแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ  เรื่องของตำแหน่งเกียร์  ที่ใช้ในการเข็น  โดยที่จะต้องเลือก ให้มีความเหมาะสม  กับขนาดของเครื่องยนต์ และน้ำหนักรถ
อย่างที่สอง คือ เรื่องการเปิด-ปิด  สวิตช์กุญแจ ให้มันไปอยู่ในตำแหน่งเปิด (ON)  ปัญหาดังกล่าว เจอบ่อยมากเข็นแทบตาย เข็นยังไงๆ ก็ไม่ติด  เพราะว่าไอ้คนที่นั่งอยู่บนรถ ดันลืมเปิดสวิตช์กุญแจ  เพื่อต่อให้กระแสไฟเข้าไปต่อให้อุปกรณ์ในระบบต่างๆ มันทำงาน
และอย่างสุดท้าย ที่ต้องคำนึงคือ  ระยะเวลาในการเข็นให้รถติด ที่ต้องใช้ระยะเวลาที่สั้น  และเร็วมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพราะถ้าเราใช้เวลาในการเข็นรถมากเกินไป  ผู้ที่ตั้งใจมาช่วยเราเข็นรถอาจจะหนีไปก็ได้เพราะฉะนั้น เจ้าของรถที่ไม่เคยต้องเข็นรถ  แล้วสตาร์ท หรือว่าไม่มีประสบการณ์ในการนั่งเป็นคนขับ  แล้วให้คนอื่นเข็นต้องตั้งใจกันให้ดี   ห้ามลืมเปิดกุญแจ  ห้ามเข้าเกียร์ผิด และ  สุดท้ายห้ามตกใจจนทำอะไรไม่ถูก

วิธีในการเลือกตำแหน่งเกียร์  ที่ใช้ในการเข็นรถ ให้ถูกต้องก็มีหลักง่ายๆ กับเครื่องยนต์  ที่เป็นเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ หรือรถยนต์คันเล็กๆ  ก็ใช้ประมาณเกียร์ 2  แต่ถ้าเป็นรถยนต์  ขนาดจัมโบ้,บิ๊กไซส์ ที่ดูแล้วดูดีมีฐานะ  หรือเป็นรถที่มีเครื่องยนต์ตั้งแต่ 5 สูบขึ้นไป ก็เกียร์ 3   เพื่อเป็นการประหยัดแรง  ในเวลาที่เริ่มเข็น หรือตอนออกตัว เพราะถ้าเราใช้เกียร์  ที่มีอัตราทดที่หนักเกินไปในช่วงตอนออกตัวเริ่มเข็น  อาจจะเกิดอาการล้อฟรีขึ้นได้  เพราะฉะนั้น การเลือกตำแหน่งเกียร์จึงมีความสำคัญ
วิธีในการเข็นที่ถูกต้อง  ที่คนที่จะเป็นคนนั่งขับต้องศึกษาและจำให้ขึ้นใจ วิธีการก็มีดังนี้
1. ขึ้นไปนั่งบนรถแล้วจับพวงมาลัยไว้ให้ดี
2. เปิดสวิตช์กุญแจไปตำแหน่ง (ON)
3. เท้าซ้ายเหยีบคลัตช์ค้างเอาไว้
4. เท้าขวาเหยีบคันเร่ง (ไม่ต้องกดจนมิด เวลาที่มีการเข็นย้ำคันเร่งไปด้วยก็ได้)
5. มือซ้ายเข้าเกียร์ (จำเอาไว้รถเล็กเกียร์ 2 และ รถใหญ่เกียร์ 3 )
6. เมื่อพร้อมแล้วบอกให้คนที่อยู่ข้างนอกเริ่มเข็นได้
7. เมื่อรู้สึกว่ารถเริ่มมีความเร็วราบเรียบก็ปล่อยคลัตช์ได้ แต่เวลาปล่อยต้องปล่อยแบบกระชากมันถึงจะได้ผลดี
8. เมื่อรถติดเรียบร้อยแล้ว ก็หาที่จอดข้างทาง อย่าลืมขอบคุณผู้ที่มาช่วยเข็น และที่สำคัญอย่าเผลอไปดับเครื่องยนต์ก่อนที่จะถึงมือช่าง ไม่เช่นนั้นอาจจะมีเหนื่อยกันอีกรอบ

วิธีการเข็นรถแบบถูกวิธีนี้  ผู้ใช้รถควรศึกษาไว้ หากใช้รถแบบขับเป็นอย่างเดียว  จะอันตรายมากในเวลาที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น  เอาเป็นว่าถ้าไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับรถของเรา  ก็เอาใจใส่ดูแลรถยนต์กันสักนิด  ก่อนที่จะนำออกมาใช้งานก็น่าจะช่วยได้มากขึ้น

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558

เพลาขับ กับ สายพานไทม์มิ่ง

มารู้จักวิธีการดูแลรักษา "เพลาขับ" หากเอ่ยถึงเพลาขับ เชื่อว่าผู้ขับขี่มือใหม่หลายท่าน   น่าจะยังไม่รู้จักเจ้าชิ้นส่วนอุปกรณ์นี้   วันนี้เราจะพาท่าน มารู้จักกับ ชิ้นส่วนอุปกรณ์   ที่เกี่ยวกับระบบส่งกำลังการขับเคลื่อน  ที่สำคัญอีกตัวหนึ่งนั่นคือ  เพลาขับ (Drive Shaft)   เพลาขับ มีหน้าที่ ถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ไปสู่ยังล้อ   โดยเฉพาะกับรถที่ขับเคลื่อนล้อหน้า   เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการส่งกำลังขับเคลื่อนของรถยนต์  ทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนไปข้างหน้าหรือถอยหลัง   ทั้งยังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์มีอาการกระตุก หรืออาการสั่นสะท้าน   ในขณะขับขี่เมื่อเพลามีปัญหาอีกด้วย
เมื่อเพลาขับ สำคัญขนาดนี้ เราก็ควรรู้ถึง สาเหตุที่ทำให้เพลาขับมีปัญหา และการดูแลรักษาเพื่อยืดอายุเพลาขับ

สาเหตุที่ทำให้เพลาขับมีอายุการใช้งานสั้น
1. ยางหุ้มเพลาขับชำรุด เปื่อย ขาด หรือสายลัดชำรุด หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงพัฒนากันมานาน ทำให้เพลาขับสำหรับรถขับเคลื่อนล้อ  หน้ามีความทนทานมากขึ้น   มีอายุการใช้งานนานขึ้น  แต่อย่างไรก็ตาม เราควรดูแลบำรุงรักษาให้ดีอยู่เสมอ
2. การหักเลี้ยวสุด บ่อยๆ และการออกรถอย่างรุนแรง พฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้รถ ที่หักเลี้ยวจนพวงมาลัยสุดบ่อยๆ หักเลี้ยวมุมแคบ  และขณะหักเลี้ยวออกรถด้วยความแรง   จะทำให้เพลารับภาระที่ค่อนข้างหนัก   เป็นผลให้อายุการใช้งานสั้นลง
3. หมดอายุตามการใช้งาน ซึ่งเพลาขับทั่วไป  มีอายุมากกว่า 120,000 - 150,000 กม.

ลักษณะอาการ "เพลาขับ" มีปัญหา
1. ที่ความเร็วต่ำ เวลาหักเลี้ยวมากๆ หรือเกือบสุด และเคลื่อนตัวเป็นจังหวะ  จะมีเสียงดัง  "แก็กๆ"  เป็นจังหวะ  อาจเป็นด้านใดด้านหนึ่ง   หรือเป็นเวลาเลี้ยวซ้าย หรือขาว  เมื่อล้อรถหมุนคืนในต่ำแหน่งตรง   เสียงดังกล่าวจะหายไป
2. ขณะที่เร่งความเร็วจะมี อาการสั่น สะท้าน  หรือกระพือ อาจเป็นที่ความเร็วใดความเร็วหนึ่งก็ได้   ลักษณะเช่นนี้ เป็นไปได้ว่า  เพลาขับตัวในอาจมีการสึกหรอ  หรือมีอาการหลวมเกิดขึ้น

การซ่อมบำรุง "เพลาขับ"
1. เบิกของใหม่จากศูนย์บริการมาตรฐาน แน่นอนว่าเป็นอะไหล่แท้ที่มีคุณภาพสูง   ส่วนราคาย่อมสูงตามไปด้วย ถ้าหากเป็นรถที่ยังไม่เก่ามากนัก มีเงินพอจะจ่ายได้ การเลือกซื้อของศูนย์  ถือเป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง
2. เพลามือสอง ที่หาซื้อได้ตามเชียงกงขายอะไหล่เก่า เพลาพวกนี้ เป็นเพลาแท้ติดมากับรถ  แต่มีการใช้งานแล้ว จึงมีราคาถูก  คุณภาพพอใช้ได้  ต้องเลือกดูที่ตัวเพลา ว่ายังแน่นหรือหลวมแล้ว   ส่วนอายุการใช้งานนั้นขึ้นอยู่กับ  สภาพของอะไหล่ที่ได้มา   อาจจะใช้งานต่อไปได้ซัก 1-2 ปี
3. เพลา Re-built หรือเพลาซ่อม คือ เพลาเก่าที่หมดสภาพ การใช้งาน   นำมาซ่อมแซมแก้ไขใหม่   ซึ่งเพลาแบบนี้    มีหลายระดับให้เลือก  ราคาว่ากันตามแหล่งที่มา และวิธีรีบิลท์   หากไปเจอ เพลารีบิลท์ ซึ่งเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ที่เป็นของนำเข้า คุณภาพสูงจากต่างประเทศ  จะมีอายุการใช้งานนาน ประมาณ 3-5 ปี
4. ใช้เพลาเทียม หรือของเทียบ คุณภาพสำหรับของเทียม  ย่อมไม่ทนนานเท่าของแท้ แน่นอนอยู่แล้ว   ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอะไหล่เหล่านั้น  ส่วนใหญ่จะบอกว่า มาจากโรงงานผลิตเดียว กับของแท้ ที่ขายในห้าง หรือศูนย์บริการ  คงต้องดูให้ดี ที่ราคาไม่แพงรับได้กับคุณภาพ
5. ช่างเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่เอง เช่น เปลี่ยนหัวเพลาใหม่  หรือเปลี่ยนลูกปืน   ซึ่งใช้ได้ระดับหนึ่ง ราคาไม่แพง

จะเห็นได้ว่าชิ้นส่วนที่ต้องมีการเคลื่อนที่  หรือหมุนได้เช่น "เพลาขับ" เป็นชิ้นส่วนสำคัญ   ที่ต้องมีการดูแลบำรุงรักษาให้มีสภาพดีอยู่เสมอ   และเป็นชิ้นส่วนที่มีราคาค่อนข้างสูง  หากต้องมีการเปลี่ยนใหม่ทั้งเส้นหรือทั้งเพลาด้านซ้าย และขาว   เราอาจจะไม่ต้องเสียเงินจำนวนมาก   หากเรามีการดูแลที่ดี
"สายพานไทม์มิ่ง"

ผู้ใช้รถหลายท่าน อาจจะยังไม่เคยได้ยินคำว่า "สายพานไทม์มิ่ง" คืออะไร สำคัญอย่างไร ต่อเครื่องยนต์ที่ท่านขับขี่อยู่ หรือท่านที่รู้จักอยู่แล้ว ก็อาจมีคำถามตามมาว่า  เมื่อไหร่จะถึงระยะเวลาในการที่จะต้องเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่ง

การทำงานของสายพานไทม์มิ่ง
          สายพานไทม์มิ่ง หรือ สายพานราวลิ้น Timing Belt  (ไทม์มิ่ง เบลท์)  สายพานไทม์มิ่ง มีหน้าที่กำหนดการทำงานของจังหวะเครื่องยนต์ทั้งสี่ คือ จังหวะดูด จังหวะอัด จังหวะระเบิด  และจังหวะคาย  ให้เกิดมีความสมดุล    เมื่อเครื่องยนต์ทำงานจะมีการระเบิดในกระบอกสูบ ทำให้เพลาข้อเหวี่ยง และมู่เล่ ที่ติดอยู่กับเพลาข้อเหวี่ยงหมุนฉุดให้  สายพานไทม์มิ่ง หมุนตาม  และส่งพลังงานไปที่เพลาลูกเบี้ยวอยู่เหนือฝาสูบ  ที่มีหน้าที่เปิด และปิดวาล์วไอดี  และวาล์วไอเสีย ให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่เครื่องยนต์ทุกรุ่นก็ไม่ได้ใช้ระบบนี้เสมอไป  อาจจะมีการใช้  โซ่โลหะแทน  แต่หากใช้ระบบสายพานไทม์มิ่ง  ที่มีส่วนผสมของยาง  ถ้าสายพานไทม์มิ่งเกิดขาด  จะทำให้เกิดความเสียหายมาก  เช่น  วาล์วคดหัวลูกสูบแตกร้าว ฯลฯ  และรถจะไม่สามารถขับต่อไปได้
 ระยะเวลาในการเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่ง

          สำหรับระยะเวลา อายุการใช้งานสายพานไทม์มิ่งนั้น  โดยปกติบรรดาผู้ผลิตต่างก็กำหนดไว้ที่ ประมาณหนึ่งแสนกิโลเมตร หรือ ราวๆ 3ปี  แต่ก็สามารถยืดหยุ่นกันได้เล็กน้อย  ตามสภาพของการใช้งาน  เช่น รถที่ใช้อยู่ในเมืองอันต้องผจญกับการจราจรติดขัดกันทุกๆ สี่แยก  หรือบรรดาวัยแรง  ผู้ชอบกวาดคันเร่งไล่รอบสูงกันอย่างฉับพลัน แถมซ้ำยังขับแช่รอบเป็นเวลานานๆ นั้น  แน่นอนอายุการใช้งานของสายพาน  ก็ย่อมที่จะสั้นลงกว่าปกติ  จึงควรที่จะทำการเช็คสภาพของสายพานกันก่อนใกล้ๆ  80,000 กิโลเมตร  ซึ่งการเช็คนั้น  ก็จะทำได้โดยเปิดฝาครอบเครื่องออก แล้วก็ตรวจดูบริเวณด้านหลังของสายพาน  ที่มีลักษณะแบนเรียบ ว่าปรากฎร่องรอยแตกลายงา  หรือมองเห็นร่องเฟือง ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ ถ้ามีลวดลายแปลกๆ  เกิดขึ้น  นั้นก็หมายความถึง สายพานไทม์มิ่ง เส้นนั้นของคุณใกล้ขาดแล้ว  ต้องทำการเปลี่ยนใหม่

          ซึ่งถ้าโชคดีก็จะมีผลข้างเคียง คือ จังหวะการจุดระเบิด ที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมทำให้ขุมพลังทำงานได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่  หรือหากโชคร้ายกว่านั้น  สายพานไทม์มิ่งเกิดขาด ในขณะที่เครื่องยนต์กำลังทำงานอยู่ อาจทำให้ชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์คือ วาล์ว กับหัวลูกสูบ  เกิดความเสียหายมากที่สำคัญหากทำการเปลี่ยนสายพานแล้วทั้งที ก็ควรจะเปลี่ยนลูกรอก พร้อมกันไปเลยจะดีกว่า  ไม่อย่างนั้นถ้าหากเกิดการแตกหักของตัวลูกปืนที่อยู่ในลูกรอกภายหลัง  ก็ต้องมาเสียเวลาเปลี่ยนอีกครั้ง
วิธีการบำรุงรัษา

          การที่นำเอาน้ำยาอเนกประสงค์ไปทำการฉีดพ่นสายพานเพื่อลดเสียงดังนั้น  มันไม่ค่อยเป็นผลดีสักเท่าใด ก็เพราะว่าจริงๆ แล้ว คุณสมบัติหลักของน้ำยาอเนกประสงค์  ก็คือช่วยในเรื่องการคลายน็อตที่ยึดติดแน่น  โดยใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมหลักคือโซลเวนท์ เป็นตัวทำละลาย กัดกร่อนสนิม  ที่เกาะยึดแน่นอยู่ให้หลุดร่อนออก จากนั้นส่วนผสมที่เหลือ คือน้ำมันหล่อลื่น ก็จะเข้าไปทำหน้าที่คลายน็อต ให้ออกแรงขันออกได้โดยง่าย  ซึ่งถ้าหากเรานำมาใช้ฉีดพ่นไปตรงสายพาน  ที่กำลังส่งเสียงร้องแล้วเกิดการเงียบลง  ก็เป็นเพราะน้ำยาหล่อลื่นนี่เอง ที่เข้าไปช่วยให้เนื้อสายพานมันชุ่มชื้นขึ้น  แต่ตัวโซลเวนท์ อันเป็นวัตถุดิบหลักก็จะค่อยๆ กัดกร่อน  สายพานภายหลังจนเกิดความเสียหายได้  แต่ถ้าหากเรานำเอา สเปรย์เคลือบเงาเบาะ   ที่ถูกผลิตขึ้นมาจากวัตถุดิบ ที่เน้นถึงการบำรุงพร้อมเพิ่มความชุ่มชื้น ให้แก่วัสดุที่เป็นหนัง หรือยางต่างๆ  ดังนั้นนอกจากจะไม่เป็นอันตราย ต่อตัวสายพานแล้ว ยังกลับเป็นการทนุถนอมสายพาน  ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิม  และเรายังสามารถนำไปใช้ฉีดพ่นสายไฟ  เพื่อป้องกันการแตกกรอบ  อันเนื่องมาจากความร้อนสะสมในห้องเครื่อง  ได้อีกทางหนึ่งด้วย