วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

วิธีเลือกซื้อรถมือสอง

หากจะ  "ซื้อรถมือสอง"  ก็ต้องดูกันให้ละเอียดจริงๆ  ถึงจะตัดสินใจ  ตาดีก็ได้ของดี  เลือกซื้อผิดมา  ก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น   ซ่อมกันไม่รู้จักจบ ก็มีให้เห็นกันเยอะแยะ   แล้วจะไปเรียกร้องอะไรก็ไม่ได้  เพราะซื้อมาแล้ว  เราจะพาไปดูกันว่า  คำว่ารถมือสอง  รถบ้าน   และรถเต็นท์  อันไหนน่าสนใจกว่ากัน
การซื้อขายรถมือสองหลักๆ แล้ว จะมีการซื้อขายอยู่ 2 ประเภท

1.รถบ้าน  คือ รถที่เจ้าของขายเอง หรือ ซื้อขายโดยตรงกับผู้ใช้รถ
2.รถเต็นท์  คือ การซื้อขายกันเป็นธุรกิจ การซื้อขายรถผ่านคนกลาง หรือไม่ใช่โดยตรงกับผู้ใช้รถ

รถบ้านคืออะไร
คือ การซื้อขายโดยตรงกับผู้ใช้รถ  หรือ รถที่เจ้าของขายเอง   ซึ่งรถบ้านจะมีข้อดีก็คือ  การซื้อขายจะได้คุยกับเจ้าของรถโดยตรง  และรู้ว่ารถเป็นอย่างไร  ขับมาเป็นอย่างไร  ปัญหาที่เกิดขึ้น และอื่นๆ   ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อ ได้ข้อมูลที่ชัดเจน และตรงกว่า  คนส่วนใหญ่จึงมีทัศนคติ ที่ดี ต่อรถบ้าน  ทั้งด้านราคา  และสภาพ  คิดว่าไม่น่าจะผ่านนายหน้า  ราคาก็คงไม่แพง (หารู้ไม่ว่าเจ้าของรถบางคน อาจตั้งราคาตามหน้าเต๊นท์ก็เป็นได้)  ส่วนข้อเสียของรถบ้าน  ก็มีอยู่  เช่นกัน  ก็คือจะเป็นการขายตามสภาพ  การซื้อขาย  ไม่มีการรับประกันคุณภาพ  และส่วนมากการซื้อขายแบบนี้  ต้องใช้เวลานาน  เหมาะกับคนไม่รีบร้อนซื้อ  ไม่รีบร้อนขาย

เพราะการซื้อขายรถบ้านั้น  หากซื้อด้วยเงินสด  ก็ไม่มีปัญหา ยุ่งยากอะไร  ต่างกับ ถ้าเป็นการซื้อรถด้วยเงินผ่อน   จะต้องติดต่อสถาบันการเงินเอง  จ่ายเงินดาวน์ กับเจ้าของรถเดิม   และยื่นเอกสาร เพื่อตรวจสอบ ฐานะทางการเงิน  ถ้าฐานะการเงินเพียงพอ  ก็ต้องนำรถไปโอน  เป็นชื่อสถาบันการเงิน  และต้องใช้เวลา กว่า 10 วัน กว่าเรื่องจะอนุมัติ    และได้รับเช็คในส่วนที่ขอกู้  หลังจากตกลงซื้อขาย  เจ้าของรถเดิมก็ไม่อยากวุ่นวาย   จึงต้องทำสัญญาอย่างรัดกุม   เพราะเคยมีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่มีการเซ็นเอกสารโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว   แต่ยังไม่ได้รับเงินส่วนที่เหลือ  การซื้อรถบ้าน  จึงมักนิยมการซื้อด้วยเงินสดมากกว่า

รถเต็นท์คืออะไร
คือ การซื้อขายผ่านคนกลาง   หรือ รถมือสอง  ที่ขายโดยผู้ค้า มีสถานที่ซื้อขายเป็นหลักแหล่ง  สมัยก่อนจะตั้งอยู่ริมถนนมีเต๊นท์ผ้าใบขนาดใหญ่  กางอยู่ให้รถจอด   จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก  "รถเต็นท์"   หรือ เต็นท์รถมือสอง ปัจจุบันเป็นห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์  แต่ก็ยังใช้คำว่า เต็นท์ เหมือนกัน  ส่วนใหญ่ เต็นท์ ที่มีการรับซื้อรถเข้ามา และขายออกไป  จะมีการบริการ  หรือดำเนินการ ในการซื้อเงินผ่อน  มีทั้งการใช้เงินส่วนตัวปล่อยกู้  หรือ  อำนวยความสะดวก  โดยติดต่อสถาบันการเงินให้  จ่ายเงินดาวน์  เซ็นเอกสาร  และขับรถออกมาได้เลย   ไม่ต้องรอการดำเนินเรื่องให้เสร็จทุกขั้นตอน   นับเป็นการบริการ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก  สำหรับคนที่จะซื้อ รถมือสองด้วยเงินผ่อนเป็นอย่างมาก

ซื้อรถมือสองต้องปรับสภาพ
รถเต็นท์  มีการปรับสภาพรถก็จริง  แต่มักเป็นการทำโดยผิวเผิน อย่าง หยาบๆ หรือ น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อให้ผู้ซื้อดูดี  แต่เสียค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพน้อยที่สุด
ส่วนรถบ้าน  ถ้าส่วนที่เสีย หรือกำลังจะเสีย  ไม่เป็นที่สังเกตเห็น จนน่าเกลียด  หรือขับแล้วรู้เลย  ก็มักจะไม่เสียเงินซ่อมก่อนขาย ปล่อยให้เป็นภาระแก่ผู้ซื้อ   หรือแม้แต่มีส่วนที่เสียที่ชัดเจน  ก็มักจะใช้วิธีลดราคา ให้ผู้ซื้อไปซ่อมเอง

ไม่ว่าจะซื้อรถเต็นท์  ที่จอดอยู่ไม่รู้กี่วัน  หรือ ซื้อรถบ้านจากเจ้าของโดยตรง  แต่ในเมื่อเป็นรถใช้แล้ว  ก็ไม่ทราบว่าจะมีอะไรใกล้หมดสภาพในอีกไม่นาน  โดยส่วนใหญ่  รถมือสองที่แม้ผู้ขาย จะบอกว่ามีสภาพพร้อมใช้  แค่เติมน้ำมันแล้วก็ขับได้เลย  หลังซื้อมา ก็ควรจะตรวจสอบ หรือปรับสภาพ   เพื่อให้ใช้งานได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ระยะทางบนหน้าปัด  หรือ เรียกกันว่าเลขไมล์  (ทั้งที่หน่วยเป็นกิโลเมตร)  ผู้ขาย โดยเฉพาะเต็นท์  มักจะเขี่ย หรือปรับลดไมล์   เพื่อให้ดูเป็นรถใช้น้อย  สามารถเพิ่มราคา   หรือเพิ่มความน่าสนใจขึ้นได้   และปัจจุบันนี้  ไม่ใช่เฉพาะเต็นท์เท่านั้น ที่ทำอย่างนี้  เจ้าของรถบ้าน ที่รู้มากหลายคนก็ทำเช่นกัน   เพราะมีประกาศรับบริการในราคาไม่แพง   ตามนิตยสารรถรายสัปดาห์ทั่วไป  ถ้าเป็นคันที่ถูกปรับลด เลขระยะทางบนหน้าปัดลงไปโดยผู้ซื้อไม่ทราบ   นับว่าน่ากังวล  เช่น  ระยะทางที่ใช้จริง 100,000 กิโลเมตร   ซึ่งต้องเปลี่ยน  สายพานไทม์มิงแล้ว แต่ยังไม่ได้เปลี่ยน   แล้วถูกลดเลขไมล์ บนหน้าปัดเหลือ 80,000 กิโลเมตร   อย่างนี้ก็เสี่ยงมาก  กับสายพานที่จะขาด  หากใช้ต่อไปอีก 20,000 กิโลเมตร   ระยะทางที่แท้จริงของรถ  ที่ถูกลดเลขไมล์  สามารถทราบได้ยาก   นอกจากจะบังเอิญว่า  รถคันนั้นเข้าศูยน์บริการเป็นประจำ  และสมุดจดคู่มือยังอยู่  ก็สามารถโทรศัพท์เข้าไปสอบถามที่ศูนย์บริการนั้นได้ว่า  เคยซ่อมอะไรมาบ้าง   และระยะทางล่าสุดเท่าไร  เมื่อไร

ขัดสี   รถที่ผ่านการใช้งานมา  แม้จะได้รับการดูแลรักษาที่ดี   แต่ก็ต้องมีคราบสกปรก เกาะบ้างไม่มากก็น้อย   จึงไม่ใช่แค่ขัดเคลือบด้วยตัวเอง  แต่ แนะนำให้เข้าอู่สีให้ขัดสีใหม่ทั้งคัน   เอาคราบไคลสกปรกออก  แล้วเคลือบ  แล้วค่อยนำกลับมาเคลือบเงาเอง  ด้วยน้ำยากระป๋องละไม่กี่ร้อยบาท
เปลี่ยนของเหลว  ของเหลวทุกชนิด ยกเว้นน้ำกลั่น + น้ำกรดในแบตเตอรี่  และน้ำฉีดกระจก   ควรเปลี่ยน  น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์  น้ำมันเบรก  น้ำมันคลัตช์   น้ำหม้อน้ำ

สารพัดไส้กรอง   ไส้กรองอากาศ  ที่จะมีผลต่อการหายใจเข้าของเครื่องยนต์   ไส้กรองน้ำมันเครื่อง  ต้องเปลี่ยนพร้อมน้ำมันเครื่องอยู่แล้ว   ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง   เพื่อการไหลของน้ำมันที่คล่องตัว
สายพานต่างๆ  ถ้า จะตัดปัญหา  ก็ควรเปลี่ยนให้ครบ  ทั้งสายพานนอกเครื่อง   และสายพานไทม์มิง (ถ้ามี)  หากสายพานเดิมมีสภาพยังดี   ก็ใส่ถุงเก็บสำรอง ไว้ท้ายรถ  เพื่อเป็นอะไหล่เมื่อเดินทางไกล
ยางแท่นเครื่องแท่นเกียร์   ถ้าร้าวหรือขาด  ให้เปลี่ยนใหม่   ส่วนจะเป็นของใหม่แท้จากศูยน์บริการ   ของเทียบใช้   หรือของเชียงกง   ก็ตามสะดวก สำหรับรถญี่ปุ่น  ยางแท่นเครื่องเชียงกงที่มีสภาพดีๆ   ก็น่าสนใจ   เพราะมีราคาถูกมาก   แต่ใช้งานได้อีกนานพอสมควร

ท่อยางหม้อน้ำ    ถ้าดูที่ยางที่ติดรถมาแล้ว  มีสภาพไม่น่าไว้ใจ เริ่มแข็งกรอบ หรือร้าว ก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ในราคาไม่แพง สำหรับของเทียบคุณภาพดี แล้วเก็บของเดิมไว้ท้ายรถ เพื่อเป็นอะไหล่เมื่อเดินทางไกล

ระบบเบรก และผ้าเบรก   รถแล่นได้ ก็ต้องหยุดได้ดี  และปลอดภัย ในการเปลี่ยนน้ำมันเบรก  ต้องไล่น้ำมันเก่าออกจากลูกสูบเบรกทุกล้อ  ให้ตรวจสอบการรั่วซึมของ ลูกยางเบรก  สายอ่อนเบรก  และการเปื่อยขาดของ  ยางกันฝุ่น  ผ้าเบรกใกล้หมดหรือยัง   ถ้าบางแล้วก็ควรเปลี่ยน โดยสามารถเลือกได้หลายยี่ห้อ  อย่างรอบครอบ  ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าเบรกแท้จากศูยน์บริการ

ระบบช่วงล่าง   เป็นปัญหาที่พบบ่อย  ในรถมือสองทั่วไป ช่วงล่างมีเสียงดัง  แข็งกระด้าง หรือยวบยาบ  ถ้าไม่ได้สนใจจุดนี้เป็นพิเศษ  ก็แค่ทดลองขับดูว่ามีเสียงรบกวนไหม  และการทรงตัวดีหรือไม่   แต่ถ้าอยากใช้งานให้สมบูรณ์จริงๆ   ควรตรวจสอบอย่างละเอียด  ทั้งแบบ ถอดล้อขึ้นแม่แรง   โยกชิ้นส่วนดู  หรือถอดออกมาจากรถ   เพื่อตรวจสภาพอย่างละเอียด  หากเป็นรถญี่ปุ่นรุ่นที่มีอะไหล่เชียงกง  ในราคาไม่แพง  หลายชิ้นอาจตัดปัญหา  โดยซื้อเปลี่ยนยกชุดเลยก็ได้ ราคาของปีกนก  โช้คอัพ  และอะไหล่ปลีกย่อย ของรถญี่ปุ่นบางรุ่น   มีราคาของเชียงกงรวมแถวๆ  หนึ่งหมื่นบาทเท่านั้นเปลี่ยนแล้วถึงแม้จะขับไม่เหมือนรถใหม่ 100%  แต่ก็ดีขึ้นเยอะ  และใช้งานต่อไปได้อีกนาน   การตัดสินใจเปลี่ยนชิ้นส่วนของช่วงล่าง แบบยกชุดหรือไม่   ขึ้นอยู่กับสภาพของชิ้นส่วนเดิม  และราคาของชิ้นส่วนใหม่   หากไม่แพง ก็ยกชุดไปเลย หากแพง ก็ตัดสินใจจากสภาพของชิ้นส่วนเดิมอย่างรอบครอบ

เพลา และยางหุ้มเพลา   รถขับเคลื่อนล้อหน้า มีเพลาขับ 1 แท่ง (4หัวเพลา) เลี้ยววงแคบ  แล้วมีเสียงดัง ก๊อกๆ หรือไม่ ถ้ามีเสียงดังต้องเปลี่ยนเพลา  จะเลือกของแท้จากศูนย์บริการ  เทียบใช้เฉพาะตัวหัวเพลา  หรือของเชียงกง  ก็ตามสะดวก ถ้ายางหุ้มเพลาขาด  ต้องถอดมาทำความสะอาด  เปลี่ยนยางหุมเพลา พร้อมจารบีใหม่ ยางหุ้มเพลาของเทียบ ใช้อันละไม่กี่ร้อยบ้างก็ได้  บางยี่ห้อก็น่าใช้ เพราะทนทานคุ้มค่ากับราคา

ตู้แอร์   ดูว่าลมแรง และมีกลิ่นหรือไม่  หากไม่แน่ใจว่าสกปรกหรือไม่  ล้างตู้แอร์ไปเลยก็ดี  เพราะเกี่ยวข้องกับความสะอาดของอากาศที่จะหายใจเข้าไป

เบาะและพรม   ทำความสะอาดเองได้ไม่ยาก  โดยใช้โฟมสเปรย์ฉีด  แล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดโฟม  และคราบสกปรกออก  แต่ถ้าไม่อยากทำเอง  ก็สามารถเข้ารับบริการได้ตามคาร์แคร์ทั่วไป

ฟิล์มกรองแสง  ดูสภาพทั้งความใส  และฟองอากาศของฟิล์มกรองแสงเดิมที่ติดอยู่(ถ้ามี)   การเปลี่ยนฟิล์มกรองแสงใหม่  ต้องเสียเงินหลายพันบาทก็จริง  แต่การขับรถที่มีฟิล์มมัวๆ ก็ไม่ปลอดภัย  และขาดความสวยงาม

การลดค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพ   ถ้าสะดวก มีความรู้เรื่องรถพอสมควร  และมีอู่ที่ยินดีให้ซื้ออะไหล่ไปเองได้  ก็สามารถแวะไปร้านอะไหล่  ตามห้องแถวทั่วไป หรือเชียงกง เพื่อซื้ออะไหล่ หรือถ้าไม่สะดวกซื้ออะไหล่เอง  ก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย  โดยการเลือกซื้ออะไหล่ อย่างรอบครอบ ว่าชิ้นใดควรซื้ออะไหล่แท้  เทียบ  เทียม   หรือเชียงกง   อาจดูเหมือนยุ่งยากในการปฎิบัติ  แต่โดยทั่วไปหลังการซื้อรถมือสองมาแล้ว  ก็ใช้ไปซ่อมไป อะไรเสีย ก็ถึงจะซ่อม  อย่างมากก็เปลี่ยนแค่น้ำมันเครื่องเท่านั้น  แต่หากยอมเสียเงิน เสียเวลา ในการเปลี่ยนแค่ครั้งเดียว ก็จะใช้งานได้อย่างสบายใจมากขึ้น
รถบ้าน หรือ รถเต็นท์  นั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจเลือกซื้อรถ  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ  การศึกษารถ ก่อนซื้อ รวมถึงราคาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่มากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น