จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลา "เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง" ผู้ขับขี่หลายท่าน คงเคยประสบปัญหา ว่าเมื่อไหร่จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง วันนี้เรามีข้อมูลดีดี เพื่อเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจมาฝากกัน
"น้ำมันเครื่อง" เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ หากคุณต้องการให้เครื่องยนต์ทำการได้เต็มประสิทธิภาพตลอดการใช้งาน จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตรถยนต์ระบุไว้ในคู่มือประจำรถ ซึ่งจะระบุชนิดความหนืด มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำ รวมถึงระยะในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องไว้ และอาจดูได้ที่ไฟเตือนให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องออยล์เซอร์วิส (oil service) ที่หน้าปัด บอกว่าถึงเวลาเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และไส้กรองน้ำมันเครื่องได้แล้ว เพราะรถวิ่งใช้งานมาเกือบจะถึง 10,000 กิโลเมตร น้ำมันเครื่องมันเก่าคุณสมบัติในการหล่อลื่นจะลดลง อันมีผลทำให้เครื่องสึกหรอ หรือเครื่องหลวมเร็วขึ้น หรือบางทีมีสิ่งสกปรกมาก ก็อาจทำให้ไส้กรองตัน การไหลของน้ำมันหล่อลื่นไม่สะดวก แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับรถที่ใช้งานหนักที่ควรจะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องให้เร็วกว่าปกติ
แต่ในปัจจุบันผู้ผลิตได้พัฒนา คุณภาพด้านการใช้งาน ของน้ำมันเครื่องให้สูงขึ้นตามมาตรฐานสากล โดยมีการผสมสารเพิ่มคุณภาพทำให้เหมาะสม กับการใช้งานของเครื่องยนต์ และมีอายุการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระยะเวลาที่จะทำให้เราตัดสินใจเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแตกต่างกันออกไป องค์ประกอบทั่วไปที่สามารถใช้ในการตัดสินใจในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง คือ ระยะทางและเวลา (ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งใดครบกำหนดก่อน) รวมถึงสภาพในการใช้งาน ดังนี้
ระยะทาง เกี่ยวข้องกับชนิดของน้ำมันเครื่องเช่น
- น้ำมันเครื่องแบบธรรมดา กำหนดเปลี่ยนถ่ายอยู่ที่ 5,000-5,500 กิโลเมตร
- น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ หรือน้ำมันเครื่องแบบสังเคราะห์ กำหนดเปลี่ยนถ่ายอยู่ที่ 10,000-15,000 กิโลเมตร
ระยะเวลา รถยนต์บางคันจอดรถทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานๆ แม้ว่าจะไม่ใช้งานเลย แต่น้ำมันเครื่องก็สามารถเสื่อมสภาพลงได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายตามระยะเวลา แม้ระยะทางจะยังไม่ครบกำหนดเลยก็ตาม ซึ่งมีการกำหนดเวลาต่างๆ ไว้ดังนี้
-น้ำมันเครื่องธรรมดา กำหนดเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 3 เดือน
-น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ หรือแบบสังเคราะห์ กำหนดเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 6 เดือน
สภาพการใช้งาน ที่ส่งผลโดยตรง และเกี่ยวข้องกับระยะทาง/ระยะเวลาที่ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้รถในสภาพการจราจรที่ติดขัด เส้นทางที่เต็มไปด้วยฝุ่น และรถยนต์ที่ใช้งานหนัก เช่นบรรทุกของหนัก,ขับรถลุยน้ำท่วม หรือเครื่องยนต์ที่ต้องการความเร็วสูงสุด เช่น รถแข่ง ซึ่งต้องมั่นใจว่าคุณสมบัติของน้ำมันเครื่องที่ใช้จะต้องไม่ลดลง จึงควรที่จะต้อง "เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง" ก่อนถึงกำหนดตามระยะทาง หรือเร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนดรวมถึงเครื่องยนต์ที่มีการดัดแปลงมาใช้กับก๊าซธรรมชาติ หรือก๊าซหุงต้ม ยิ่งต้องดูแล และทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเร็วกว่า ระยะทาง ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เนื่องจากอุณหภูมิในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์เหล่านี้จะสูงกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไป
ในกรณีที่เป็นรถจอดมากกว่าวิ่ง อย่างน้อยๆ ก็ควรที่จะ "เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง" ทุกๆ 6 เดือน เพราะทุกครั้งที่เครื่องยนต์ทำงาน ภายในเครื่องยนต์จะมีคราบเขม่า และความชื้นจากการเผาไหม้ตกค้างอยู่ และความชื้นกับชิ้นส่วนต่างๆ ที่เป็นโลหะนั้นก็ไม่ค่อยจะถูกกัน ถึงจะจอดนิ่งๆ ก็เลี่ยงเรื่องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันไม่ได้เหมือนกัน
แถมทริปวิธีการเข็นรถ
มารู้จัก "วิธีการเข็นรถ" ที่ถูกต้องกันเถอะ บางครั้งเมื่อจอดรถทิ้งไว้ กลับมาอีกที "รถสตาร์ทไม่ติด" แบตหมด คือต้นตอของปัญหาในสังคมปัจจุบัน กระแสลูกผู้ชายตัวจริงกำลังมาแรง เพราะฉะนั้นความมีน้ำใจของไทย คงจะหากันได้ไม่ยาก ทำให้ในทุกวันนี้หลายๆ คน ที่รถเสีย หรือรถสตาร์ทไม่ติดแล้วต้องเข็น มีความอุ่นใจกันมากขึ้น ว่าจะต้องมีคนมาช่วยเข็นอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่มีคนมาช่วยล่ะ ร่างกายของคุณจะพร้อม หรือเปล่าสำหรับการเข็นรถ การเข็นรถให้ประหยัดแรงมากที่สุด มันก็มีวิธีที่ถูกต้องตาม หลักการเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเข็นกัน โดยไม่มีความรู้ มีหวังเข็นกันแย่
วิธีการเข็นรถที่ถูกต้องตามหลักการ (ใช้ได้กับเกียร์กระปุกเท่านั้น)
ในเวลาที่ทำการเข็นรถ เพื่อให้เครื่องนยนต์มันติดนั้น อย่างแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ เรื่องของตำแหน่งเกียร์ ที่ใช้ในการเข็น โดยที่จะต้องเลือก ให้มีความเหมาะสม กับขนาดของเครื่องยนต์ และน้ำหนักรถ
อย่างที่สอง คือ เรื่องการเปิด-ปิด สวิตช์กุญแจ ให้มันไปอยู่ในตำแหน่งเปิด (ON) ปัญหาดังกล่าว เจอบ่อยมากเข็นแทบตาย เข็นยังไงๆ ก็ไม่ติด เพราะว่าไอ้คนที่นั่งอยู่บนรถ ดันลืมเปิดสวิตช์กุญแจ เพื่อต่อให้กระแสไฟเข้าไปต่อให้อุปกรณ์ในระบบต่างๆ มันทำงาน
และอย่างสุดท้าย ที่ต้องคำนึงคือ ระยะเวลาในการเข็นให้รถติด ที่ต้องใช้ระยะเวลาที่สั้น และเร็วมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าเราใช้เวลาในการเข็นรถมากเกินไป ผู้ที่ตั้งใจมาช่วยเราเข็นรถอาจจะหนีไปก็ได้เพราะฉะนั้น เจ้าของรถที่ไม่เคยต้องเข็นรถ แล้วสตาร์ท หรือว่าไม่มีประสบการณ์ในการนั่งเป็นคนขับ แล้วให้คนอื่นเข็นต้องตั้งใจกันให้ดี ห้ามลืมเปิดกุญแจ ห้ามเข้าเกียร์ผิด และ สุดท้ายห้ามตกใจจนทำอะไรไม่ถูก
วิธีในการเลือกตำแหน่งเกียร์ ที่ใช้ในการเข็นรถ ให้ถูกต้องก็มีหลักง่ายๆ กับเครื่องยนต์ ที่เป็นเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ หรือรถยนต์คันเล็กๆ ก็ใช้ประมาณเกียร์ 2 แต่ถ้าเป็นรถยนต์ ขนาดจัมโบ้,บิ๊กไซส์ ที่ดูแล้วดูดีมีฐานะ หรือเป็นรถที่มีเครื่องยนต์ตั้งแต่ 5 สูบขึ้นไป ก็เกียร์ 3 เพื่อเป็นการประหยัดแรง ในเวลาที่เริ่มเข็น หรือตอนออกตัว เพราะถ้าเราใช้เกียร์ ที่มีอัตราทดที่หนักเกินไปในช่วงตอนออกตัวเริ่มเข็น อาจจะเกิดอาการล้อฟรีขึ้นได้ เพราะฉะนั้น การเลือกตำแหน่งเกียร์จึงมีความสำคัญ
วิธีในการเข็นที่ถูกต้อง ที่คนที่จะเป็นคนนั่งขับต้องศึกษาและจำให้ขึ้นใจ วิธีการก็มีดังนี้
1. ขึ้นไปนั่งบนรถแล้วจับพวงมาลัยไว้ให้ดี
2. เปิดสวิตช์กุญแจไปตำแหน่ง (ON)
3. เท้าซ้ายเหยีบคลัตช์ค้างเอาไว้
4. เท้าขวาเหยีบคันเร่ง (ไม่ต้องกดจนมิด เวลาที่มีการเข็นย้ำคันเร่งไปด้วยก็ได้)
5. มือซ้ายเข้าเกียร์ (จำเอาไว้รถเล็กเกียร์ 2 และ รถใหญ่เกียร์ 3 )
6. เมื่อพร้อมแล้วบอกให้คนที่อยู่ข้างนอกเริ่มเข็นได้
7. เมื่อรู้สึกว่ารถเริ่มมีความเร็วราบเรียบก็ปล่อยคลัตช์ได้ แต่เวลาปล่อยต้องปล่อยแบบกระชากมันถึงจะได้ผลดี
8. เมื่อรถติดเรียบร้อยแล้ว ก็หาที่จอดข้างทาง อย่าลืมขอบคุณผู้ที่มาช่วยเข็น และที่สำคัญอย่าเผลอไปดับเครื่องยนต์ก่อนที่จะถึงมือช่าง ไม่เช่นนั้นอาจจะมีเหนื่อยกันอีกรอบ
วิธีการเข็นรถแบบถูกวิธีนี้ ผู้ใช้รถควรศึกษาไว้ หากใช้รถแบบขับเป็นอย่างเดียว จะอันตรายมากในเวลาที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เอาเป็นว่าถ้าไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับรถของเรา ก็เอาใจใส่ดูแลรถยนต์กันสักนิด ก่อนที่จะนำออกมาใช้งานก็น่าจะช่วยได้มากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น