วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

วาล์วน้ำในเครื่องยนต์ สำคัญอย่างไร

"วาล์วน้ำในเครื่องยนต์" สำคัญอย่างไร ระบบระบายความร้อน ของรถยนต์ทั่วไปนั้น  ประกอบไปด้วย อุปกรณ์หลายชิ้นส่วน  คือ  หม้อน้ำ พัดลมระบายความร้อนทั้งแบบกลไก หรือใช้ไฟฟ้า ปั๊มน้ำ ท่อยางน้ำต่างๆ วาล์วน้ำ ฝาหม้อน้ำ ถังพักน้ำ และอื่นๆ   โดยอุปกรณ์ต่างๆ   เหล่านี้ทำงานประสานกัน  โดยทำหน้าที่แตกต่างกันไป   ซึ่งผลลัพธ์คือทำให้ การระบายความร้อนของเครื่องยนต์   เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิต

แม้ว่าชิ้นส่วน ในการระบายความร้อน ของเครื่องยนต์จะมีจำนวนหลายชิ้น   แต่วันนี้ จะนำผู้ใช้รถมาทำความรู้จัก กับ "วาล์วน้ำ"   หรือ ทางเทคนิคเรียกว่า เทอร์โมสตัท (Thermostat)  ว่า มีหน้าที่ในการทำงานอย่างไร  สำคัญแค่ไหนต่อระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์

"วาล์วน้ำในเครื่องยนต์" หรือ ทางเทคนิคเรียกว่า เทอร์โมสตัท (Thermostat)   มีหน้าที่หลัก  คือ ทำหน้าควบคุมอุณหภูมิ  ของน้ำหล่อเย็น  ในระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์   โดยวาล์วน้ำนี้ จะคอยเปิด-ปิด  การไหลเวียน ของน้ำในเครื่องยนต์ หรือ เป็นตัวกั้นทางเดินของน้ำหล่อเย็น  ที่จะไหลเข้าไปยังหม้อน้ำที่อยู่ด้านหน้าของรถ    ทั้งนี้เพื่อให้น้ำหล่อเย็นมีอุณหภูมิสูงขึ้น  จนถึงอุณหภูมิการทำงาน  ที่กำหนดโดยผู้ออกแบบเครื่องยนต์ จากนั้น  ตัววาล์วน้ำจึงทำหน้าที่เปิดให้น้ำที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นนั้นไหลออกไปยังหม้อน้ำ   โดยที่หม้อน้ำ จะเป็นตัวทำหน้าที่ลดอุณหภูมิ   ของน้ำหล่อเย็นอีกทีหนึ่ง

ดังนั้นวาล์วน้ำ จะทำงาน (เปิด-ปิด)   ตามอุณหภูมิ ที่กำหนดไว้ เช่น ที่อุณหภูมิ 80 หรือ 85 องศาเซลเซียส    โดยจะค่อยๆ เปิด  และจะเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ หรือสุดที่อุณหภูมิ  ประมาณ 100 องศา   แต่การกำหนด  ค่าการเปิดของวาล์วน้ำนั้น   จะมีค่าอุณหภูมิที่ไม่เท่ากัน   แล้วแต่ชนิดเครื่องยนต์  หรือขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต   จึงไม่สามารถนำมา เป็นเกณฑ์มาตรฐานได้     ซึ่งต้องดูจากสเปคของเครื่องยนต์นั้นๆ   โดยบางเครื่องอาจกำหนดไว้   เช่น  80, 83, 85 ,88   องศาเซลเซียส   เป็นต้น   หรือสามารถดูได้ที่เลขที่ปั๊ม   หรือพิมพ์บนตัววาล์วน้ำได้ เช่นกัน
 
ผู้ใช้รถบางท่าน  อาจสงสัยว่า  อุณหภูมิ ของน้ำในระบบหล่อเย็น  ในเครื่องยนต์นั้น  สูงถึง 100 องศาเซลเซียส   หรือเกินร้อย ได้เชียวหรือ    จริงๆ แล้วอุณหภูมิ ระดับนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ   โดยเฉพาะ  รถยุโรป   เนื่องจากในระบบน้ำหล่อเย็นนั้น เป็นระบบปิด  และมีการสร้างแรงดัน  ภายในระบบ   โดยใช้ฝาหม้อน้ำเป็นตัวกักแรงดัน  ดังนั้นน้ำจะไม่เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศา อย่างแน่นอน    แต่ถ้าระบบหล่อเย็นมีจุดใดจุดหนึ่งรั่ว   น้ำจะสามารถเดือด ที่อุณหภูมิ 100 องศา  ได้นั่นเอง นอกจากเป็นตัว เปิด-ปิด ให้น้ำไประบายที่หม้อน้ำ   ตัววาล์วน้ำ  นั้นยังเป็นตัวที่สำคัญ  ที่คอยควบคุมอุณหภูมิ  ของเครื่องยนต์ไว้ให้เหมาะสมด้วย    เช่น ควบคุมให้อุณหภูมิ  เครื่องยนต์  อยู่ระหว่าง 85-100 องศา   ถ้าเครื่องยังไม่ร้อนจะปิด  ให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น แล้วค่อยๆ เปิด พยายามเปิด-ปิด   ตลอดเวลา มากน้อย ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ

ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องยนต์นั้น  มีการเผาไหม้สมบูรณ์ที่สุด   มีการนำเอาพลังงานความร้อนมาใช้  ให้เหมาะสมที่สุด   รวมถึงการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่สุดด้วย   การที่ทำให้เครื่องยนต์เย็นเกินไปนั้น  ไม่ทำให้เกิดผลดี   แต่จะทำให้เกิดผลเสียด้วยซ้ำไป   โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้รถ หรือแม้แต่ช่างเอง    จะเน้นเอาการระบายที่ดีกว่าปกติ  เช่น  ทำให้หม้อน้ำใหญ่ขึ้น    ติดพัดลมไฟฟ้าเพิ่ม หรือช่างบางคน  ถอดเอาวาล์วน้ำออกเลยก็มี   นั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้ออกแบบเครื่องยนต์  เขาต้องการให้อุณหภูมิของเครื่องยนต์ หลังการสตาร์ท มีอุณหภูมิสูง ถึงอุณหภูมิการทำงานให้เร็วที่สุด    ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์นั้น เกิดขึ้นเร็วที่สุด แต่การถอดวาล์วน้ำออก   อาจใช้เวลานานถึง 10 นาที  หรือมากกว่า ที่จะทำให้เครื่องยนต์   ถึงอุณหภูมิการทำงาน    ซึ่งในช่วงเวลานั้นการเผาไหม้จะไม่สมบูรณ์   ทำให้เกิดแก๊สไอเสีย   ที่เป็นพิษออกมาจากเครื่องยนต์มากมาย
 
ปัญหาการทำงานของ "วาล์วน้ำในเครื่องยนต์" ที่ผิดปกติ
ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้น  กับวาล์วน้ำ  มักจะเกิดขึ้น  กับรถ  ที่มีอายุการใช้งานนานพอสมควร   หรือ  อย่างน้อย 4-5 ปี ไปแล้ว   เมื่อวาล์วน้ำ  เริ่มมีปัญหาจะแสดงอาการ ให้เจ้าของรถเห็น คือ

1. อุณหภูมิของเครื่องยนต์ จากเดิมที่ขึ้นอยู่นั้น  จะสูงขึ้นผิดปกติ จนผิดสังเกต     ทั้งนี้ เนื่องจากว่า วาล์วน้ำ  นั้นไม่สามารถเปิดให้น้ำไหล วนมายังหม้อน้ำได้สะดวก     ทำให้การระบายความร้อนไม่ดีเท่าที่ควร

2. อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นตรงกันข้ามคือ ความร้อนขึ้นช้ากว่าปกติ   และยังขึ้นไปถึงในระดับปกติได้  แต่เมื่อรถได้วิ่งในระยะทางยาว   เข็มความร้อนจะตกลงมามาก  พอรถชะลอ  หรือหยุดวิ่ง  ความร้อน จะกลับขึ้นมาอีกครั้ง   ซึ่งอาการนี้แสดงให้เห็นว่าความร้อน   มีค่าการเปลี่ยนแปลงมาก (ไม่คงที่)   ปกติความร้อนของเครื่องยนต์    ไม่ควรเปลี่ยนแปลงมาก ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งหรือจอด   อาการดังกล่าว   คาดเดาได้ว่า วาล์วน้ำ นั้น อาจจะเปิดค้างอยู่   ทำให้การควบคุมอุณหภูมิทำได้ไม่ดีพอ
 
วิธีตรวจเช็ค และการดูแลรักษา "วาล์วน้ำในเครื่องยนต์"
การตรวจเช็คทั่วไป   ต้องยกให้เป็น  หน้าที่ของช่างผู้ชำนาญการ  เนื่องจากโดยปกติแล้ว   จะไม่มีการตรวจเช็คชิ้นส่วนนี้โดยเฉพาะ  ส่วนใหญ่  เมื่อเกิดปัญหา เรื่องความร้อนขึ้นผิดปกติ    จึงทำการตรวจเช็คตัววาล์วน้ำ   ตัวนี้ไปด้วย

วิธีแรก คือต่อกระบอกน้ำ  ขึ้นมาจากหม้อน้ำ  หรือที่หม้อพักน้ำ (ใช้เครื่องมือพิเศษ)  และดูว่าน้ำ มีการไหลเพิ่มเติมขึ้น หรือลดลง  หรือไม่ ตามอุณหภูมิการเปิด-ปิดของวาล์ว   เป็นต้น

วิธีที่สอง คือ ถอดตัววาล์วนี้ออกมา  โดยทดสอบด้วยการต้มในน้ำ ที่มีอุณหภูมิ ให้สังเกตดู  การเปิด-ปิด ของวาล์ว    หากต้มจนน้ำเดือด  แล้ววาล์ว เปิดน้อยหรือไม่เปิด   ถือว่าวาล์วน้ำนั้นเสีย  ให้เปลี่ยนตัวใหม่   เพราะถ้าวาล์วนี้เปิดน้อย  หรือไม่เปิดความร้อน จะขึ้นไปเรื่อยๆ  ทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้
อย่างไรก็ตาม  ช่วงหน้าร้อนนี้ ควรเป่าทำความสะอาดรังผึ้ง หม้อน้ำ ที่อยู่ด้านหน้ารถให้สะอาด เพื่อการระบายความร้อน ที่ดีขึ้น   เนื่องจากช่วงนี้  อุณหภูมิภายนอนค่อนข้างสูง  การระบายความร้อนที่ไม่ดีพอ   จะทำให้เกิดปัญหา  ทั้งเครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงกว่าเดิม   รวมถึงระบบปรับอากาศจะไม่เย็นตามไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น