วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

มาเรียนรู้เรื่องของ ไส้กรอง กันเถอะ

"ไส้กรอง"  หมายถึง  วัสดุที่ใช้ในการกรองอยู่ภายใน  อาจมีท่อที่กรองอยู่ภายในหรือไม่มีก็ได้   มีลักษณะมีฝาปิดครอบอีกที   ซึ่งไส้กรองที่เรารู้จักกันอยู่ในรถยนต์  เช่น  ไส้กรองน้ำมันเครื่อง  ไส้กรองอากาศ   ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง  ไส้กรองน้ำมันเกียร์ (อัตโนมัติ) ไส้กรองแอร์  เป็นต้น จะเห็นได้ว่าไส้กรองนั้น  มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด  แต่ละชนิดจะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป   แต่โดยรวมแล้ว  ไส้กรองมีหน้าที่หลักคือ การกรองสิ่งสกปรกนั่นเอง
               
โดยวันนี้เราจะมาทำความรู้จัก   กับไส้กรอง ที่สำคัญ 3 ชนิด   นั่นคือ  ไส้กรองน้ำมันเครื่อง , ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง  และ ไส้กรองอากาศ

ไส้กรองน้ำมันเครื่อง
หน้าที่หลัก  ของไส้กรองน้ำมันเครื่อง   คือ การกรองน้ำมันเครื่องยนต์  โดยให้น้ำมันเครื่องที่ผ่านการใช้งาน   ที่หมุนวนอยู่ภายในเครื่องยนต์ซึมผ่านกระดาษกรอง  ที่อยู่ภายในไส้กรองน้ำมันเครื่อง  แล้วเข้าไปสู่แกนกลางของตัวกรอง   จากนั้นน้ำมัน จะถูกส่งไปยังชิ้นส่วนต่างๆ ภายใน ของเครื่องยนต์จนทั่ว

ซึ่งน้ำมันเหล่านี้  จะนำเอาสิ่งสกปรก ไม่ว่าจะเป็นเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้  เศษโลหะต่างๆ  ที่เกิดจากการสึกหรอ หรืออื่นๆ ที่ปะปนเข้ามาในน้ำมันเครื่อง   แล้วผ่านมาที่กระดาษกรอง ภายในไส้กรองน้ำมันเครื่อง  กรองสิ่งสกปรก  แล้วส่งกลับไป จะทำลักษณะนี้ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน

ไส้กรองน้ำมันเครื่อง  ที่เราคุ้นเคย  และใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่จะมี 2 ลักษณะ  คือ จะเป็นแบบเหล็กปิดตาย  เมื่อเสื่อมหรือหมดสภาพ จะทิ้งทั้งไส้กรองเลย    ส่วนอีกแบบ จะเปลี่ยนเฉพาะไส้กรอง  ที่เป็นกระดาษกรองเท่านั้น    ฝาครอบที่เป็นเหล็ก  จะยังคงใช้ของเดิมอยู่   ซึ่งมีใช้ในรถยุโรปหลายยี่ห้อ

ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง
หน้าที่หลัก  ของไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง  คือ มีหน้าที่ดักสิ่งสกปรกจากน้ำมันเชื้อเพลิง  เพื่อไม่ให้หลุดลอดเข้าไปในห้องเผาไหม้ อาจเป็นอันตราย  ต่อลูกสูบ แหวน หรือกระบอกสูบได้
ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง  แบ่ง เป็น 2 ชนิด  ตามประเภท  ของเชื้อเพลิงที่ใช้   คือ ไส้กรองน้ำมันเบนซิน     และ ไส้กรองน้ำมันดีเซล

ไส้กรองน้ำมันเบนซิน     ที่ใช้กับเครื่องเบนซิน   ส่วนใหญ่ทำด้วยกระดาษกรอง  พับเป็นครีบ สำหรับคาร์บูเรเตอร์รุ่นเก่า เปลือกนอกของตัวกรอง  มักจะเป็นพลาสติกธรรมดา   บางตัวเป็นพลาสติกสีขุ่น   ซึ่งกรองเบนซิน  ของระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเก่า   หรือคาร์บูเรเตอร์  จะมีแรงดันของปั๊มไม่สูงมากนัก   หรือประมาณ   0.3-0.4 บาร์   หรือ 4-5 ปอนด์/ตร.นิ้ว ส่วนพวกเครื่องเบนซิน  ที่ใช้ระบบหัวฉีด   ซึ่งมีแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงสูง   ประมาณ 3 บาร์  ทำให้เปลือกนอกที่เป็นไส้กรองพลาสติก  อาจจะไม่แข็งแรงทนทาน   และเกิดการแตกหัก ชำรุดเสียหายได้   ผู้ผลิตจึงใช้โลหะ มาทำเปลือกหุ้มแทนพลาสติก   เพื่อให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น   ไส้กรองของเครื่องเบนซินระบบหัวฉีดแบบนี้มี   ชื่อ    อย่างเป็นทางการว่า "ไส้กรองละเอียด"    เพราะจะมีตัว   "ไส้กรองหยาบ"    อีกตัว  อยู่ที่ปั๊มในถังน้ำมันเชื้อเพลิง  ซึ่งจะคอยกรอง  สิ่งสกปรกไว้ชั้นแรกก่อน   และด้วยการที่เป็นไส้กรองหยาบ   โอกาสอุดตันจึงมีน้อย   ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน   หรือดูแลรักษาเป็นพิเศษ

ไส้กรองน้ำมันดีเซล    ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่า   "กรองดักน้ำ"   เพราะนอกจาก กรองสิ่งสกปรกในน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ยังกรอง  หรือดักน้ำ ที่ปะปนมา กับเครื่องดีเซลด้วย   เมื่อไส้กรองเก็บกักน้ำเอาไว้จนเต็ม   จะมีเสียงเตือนให้เจ้าของรถทราบ ว่าต้องมาเปิดก๊อกด้านใต้   เพื่อปล่อยน้ำทิ้งไป ไส้กรองพวกนี้   แม้จะมีอายุการใช้งานยืนยาว   แต่ต้องมีการเปลี่ยนใหม่ด้วยเหมือนกัน    เพราะเมื่อสะสมเอาไว้เยอะ  ย่อมเกิดการอุดตันขึ้นได้มีผลทำให้การส่งน้ำมันขาดตอน   หรือแรงดันลดลง  ไม่สามารถป้อนเชื้อเพลิง  ให้กับเครื่องยนต์   ได้ดีเท่าที่เครื่องยนต์ต้องการ   ทำให้เกิดอาการเครื่องยนต์สะดุด กำลังตก  เร่งรอบไม่ขึ้น   เราจึงควรมีการเปลี่ยนไส้กรอง   ตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ในคู่มือประจำ

ไส้กรองอากาศ
หน้าที่หลักๆ   ของ ไส้กรองอากาศ  คือ  กรองฝุ่นละออง  และสิ่งสกปรกต่างๆ  ที่ปะปนมากับอากาศ   ไม่ให้ไหลเข้าไปในเครื่องยนต์   ถ้าไม่มีไส้กรอง  เพื่อจำกัดสิ่งเหล่านี้  จะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอ   และเสียหายได้ง่าย  นอกจากนั้น  ยังมีหน้าที่ลดเสียงดัง  ของอากาศที่ถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์อีกด้วย

ไส้กรองอากาศ  ที่ใช้กับรถยนต์ในปัจจุบัน ส่วนมากเป็น แบบกระดาษแห้ง  สามารถเป่าทำความสะอาดได้  มีบางชนิดที่เป็นแบบกระดาษเคลือบน้ำมัน  แบบนี้เป่าไม่ได้ จะต้องล้าง  หรือเปลี่ยนใหม่เพียงอย่างเดียว

การตรวจไส้กรองอากาศ   ต้องมีการตรวจเช็คตามระยะเวลา  เพื่อให้มันมีประสิทธิภาพดีที่สุด   ไส้กรองอากาศที่อุดตัน หรือ มีฝุ่นผงติดอยู่มาก สิ่งเหล่านี้จะไปอุดตันปิดกั้น ปริมาณอากาศ ที่ไหลเข้าเครื่องยนต์   อากาศที่เข้าเครื่องยนต์ได้น้อยลง   จะทำให้ส่วนผสมหนาเกินไป   เร่งเครื่องยนต์ไม่ค่อยขึ้น   รอบขึ้นช้า ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง    ทำให้มลพิษของไอเสียเพิ่มขึ้น    ไอเสียมีควันสีดำ   และ ถ้ามีฝุ่นผงเข้าไปในเครื่องยนต์   จะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอ  ได้อย่างรวดเร็ว   ดังนั้นควรทำการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น