วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2558

ระบบ "Auto Stop" ประหยัดน้ำมันได้จริงไหม

ระบบ "Auto Stop" ประหยัดน้ำมันได้จริงไหม ตอนนี้คงไม่ต้องบอกว่าน้ำมันแพงขนาดไหน อย่างเก่งก็ลดลงมาให้ดีใจกัน ชั่วครู่ชั่วยาม ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ เผลอหน่อยเดียวราคาก็ขยับพุ่งทะยานขึ้นไปอีก  แถมยังแพงกว่าอีตอนก่อนลดราคาอีกต่างหาก   ด้วยเหตุนี้หากสามารถประหยัดได้ก็ต้องประหยัด ส่วนจะเอารถไปติดแก๊สเพื่อใช้ของถูก หรือไม่ก็แล้วแต่ จะดิ้นรนกันไป

หากพูดถึง  เรื่องของความ "ประหยัด" แล้ว   ส่วนหนึ่ง ก็จะได้มาจาก  วิธีการใช้รถ  บางคน อาจจะใช้วิธี   ออกจากบ้านเร็วกว่าปกติหน่อย   เพื่อหนีรถติดหรือหากรถติด  ก็ยังไม่คับคั่งจนเกินไปนัก  นอกจากใช้เวลาในการเดินทาง น้อยลงแล้ว อัตราสิ้นเปลืองก็ต่ำกว่าเดิมด้วย  การขับก็พยายามขับแบบไปเรื่อยๆ  ไม่หวือหวา เน้นประหยัดเชื้อเพลิงเป็นหลัก   ซึ่งก็พอไปได้ แต่ถ้าจะให้เป็นชิ้นเป็นอัน ก็คงจะต้องเปลี่ยนรถ ไปใช้พวกรถคันเล็ก  เครื่องเล็กหรือหันไปใช้พวก  "ไฮบริด" รถไฟฟ้า  ที่บรรทุกเครื่องชาร์จไฟติดตัว ไปไหนต่อไหนด้วย

พอรถติดมาก ก็ไม่ค่อยมีผลกับอัตราสิ้นเปลืองเท่าไหร่นัก   เพราะจะใช้พลังไฟฟ้า  ในการขับเคลื่อนมากกว่าเครื่องยนต์  แล้วเป็นที่รู้กันอยู่ว่า  ตอนรถจอดพวกรถไฟฟ้าจะใช้พลังน้อยกว่า  ตอนขับเคลื่อน  ดังนั้นรถไฮบริดจึงประหยัดได้เยอะ  และบางคนก็ไม่เปลี่ยนรถ  แต่หันไปคบของถูก  โดยการนำรถไปติดตั้ง พวกอุปกรณ์ PPV  ที่ ทำให้เครื่องยนต์  สามารถใช้น้ำมัน ราคาถูกอย่างแก๊สโซฮอล์  E85 ได้ หรือบางท่านก็หันไปคบกับแก๊สซะเลย

อันที่จริงทางบริษัทรถยนต์  ก็พยายามทำรถ ที่กินน้ำมันน้อยลง  รวมทั้งรถ ที่ปล่อยมลภาวะในระดับต่ำ  อย่างรถขนาดกลางระดับ 2.0L   สมัยก่อนใช้น้ำมันในเมือง  อย่างเก่งก็ 7-8 โล/ลิตร   แต่มายุคหลังนี้  สามารถทำได้ถึง 9 หรือ 10 โล/ลิตร   แต่ก็ไม่ทันกับการขึ้นของราคาน้ำมันที่ขยับตัวไปเร็วกว่า
เพื่อการประหยัดเชื้อเพลิง  และลดการปล่อยมลภาวะ ของเครื่องยนต์   บริษัทรถยนต์ก็ออกแบบรถ ให้มีระบบตัดการทำงานของเครื่องยนต์อย่างอัตโนมัติ

เมื่อรถจอดนิ่งสนิท   อย่างเช่น  ระบบ Auto Stop  ในรถ  Honda Jazz Hybrid   หรือ  Idling Stop  ในรถ  Nissan Almera  และ  ระบบ i-stop ในรถ   Mazda CX-5    ที่ไม่ว่าจะ เป็นการจอดรอสัญญาณไฟแดง  หรือ จอดเพราะการจราจร  ติดขัดรถไม่ยอมขยับก็ตาม    จะทำให้เครื่องยนต์ดับลง   และระบบจะสตาร์ทติดเครื่องอย่างอัตโนมัติ   เมื่อมีการถอนเท้าออกจากคันเหยียบเบรคกดคันเร่ง   ขยับเลื่อนเกียร์ หรือเมื่อมีการขยับพวงมาลัยก็ได้

คราวนี้ก็เกิดเป็นปัญหาคาใจ ขึ้นมาว่า ระบบ "Auto Stop" (การดับเครื่องยนต์)  และมีการสตาร์ทเครื่องยนต์บ่อยๆ  แบบนี้ จะเป็นการช่วยให้เครื่องยนต์ประหยัดขึ้นจริงหรือเปล่า   ซึ่งหากคิดในแง่เหตุผลแล้วก็น่าจะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้จริง   ไม่งั้นทางบริษัทรถ จะติดมาทำไมให้ต้นทุนสูงขึ้น  แล้วความจริงนั้นเป็นประการใด    และหากช่วยประหยัดได้จริง  ถ้ารถเราไม่มีระบบตัดการทำงานอย่างอัตโนมัติ เราจะสามารถ  ใช้วิธีปิดสวิทช์กุญแจดับเครื่องยนต์แทนได้หรือไม่

สมัยก่อนนั้น  การสตาร์ทติดเครื่องยนต์  จะใช้น้ำมันเปลืองมาก   โดยทั่วไป จะใช้อัตราส่วนผสมระหว่างน้ำมัน  กับอากาศค่อนข้างหนา  ประมาณว่า 5-8 ต่อ 1 เมื่อเทียบกับอัตราส่วนผสม   ตอนรถวิ่งแล้ว จะอยู่ที่  15-15.5 ต่อ 1 ซึ่งจะเห็นว่าการสตาร์ทรถนั้น  จะใช้น้ำมันเปลืองเป็นพิเศษ   แต่ลักษณะเช่นนี้  เป็นผลจากการทำงานของเครื่องยนต์    สมัยที่ยังใช้คาร์บูเรเตอร์   เป็นตัวจ่ายเชื้อเพลิง การทำงานจะเป็นแบบกลไกใช้นมหนู  เป็นตัวควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงกับอากาศ

ส่วนปัจจุบันรถใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิง  ด้วยหัวฉีดอิเล็คทรอนิคส์   ซึ่งให้ความแม่นยำสูง  ในการจ่ายเชื้อเพลิงสามารถปรับเปลี่ยนการจ่ายเชื้อเพลิง  ได้ตามที่เครื่องยนต์ต้องการ   ดังนั้น การสตาร์ทติดเครื่องยนต์   จึงไม่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก  เหมือนสมัยใช้คาร์บูเรเตอร์   ถึงแม้ในวงจรสตาร์ทติดเครื่องยนต์ทั่วไป   การสั่งจ่ายเชื้อเพลิง ของหัวฉีดนั้น จะฉีดพร้อมกันทุกหัว  ต่างกับการทำงานปกติ   ที่จะฉีดทีละหัวไล่ตามจังหวะการจุดระเบิด

การสตาร์ทติดเครื่องยนต์   แบ่งออกเป็น  2 อย่าง คือ  สตาร์ทตอนเครื่องเย็น   กับ สตาร์ทตอนเครื่องร้อน   โดยวัดจากอุณหภูมิเครื่องยนต์   หรือน้ำหล่อเย็นนั่นเอง การสตาร์ทติดเครื่องยนต์เครื่องเย็น   จะเป็นการสตาร์ทติดเครื่อง  หลังจากจอดรถเอาไว้นานๆ  โดยไม่ได้ใช้ ทำให้ เครื่องยนต์สูญเสียความร้อน ที่เหมาะสมจากการทำงานไป   อยู่ในอุณหภูมิต่ำกว่าการใช้งานตามปกติ   การจุดระเบิด  เพื่อติดเครื่องยนต์  จึงยากกว่าปกติ   จำเป็นต้องมีการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น   และการเดินเครื่องยนต์  ในรอบเดินเบาก็สูงกว่าปกติลักษณะนี้ จะใช้เชื้อเพลิงสิ้นเปลืองมาก

การสตาร์ทติดเครื่องยนต์ตอนเครื่องร้อน    ซึ่งเครื่องยนต์จะอยู่ ในอุณหภูมิทำงาน   การสตาร์ทติดเครื่องยนต์ก็จะง่ายขึ้น   เนื่องจากชิ้นส่วนของ  เครื่องยนต์ขยายตัวจนลื่นไม่คับตึงแล้ว    การสตาร์ทติดเครื่องยนต์  ไม่จำเป็นต้องจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมากนัก  และไม่ต้องเพิ่มรอบเครื่องให้สูง   เหมือนตอนเครื่องเย็น  ด้วยเหตุนี้การดับเครื่องยนต์  เวลารถจอดรอสัญญาณไฟ   หรือช่วงการจราจร ติดขัด ของพวกรถ   ที่มีระบบตัดการทำงาน ของเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติ    ซึ่งมีใช้อยู่ในรถยนต์หลายยี่ห้อ   จึงเป็นการช่วยประหยัดเชื้อเพลิง  และลดมลภาวะ ที่เครื่องยนต์ ปล่อยออกมาให้น้อยลงได้

จากข้อมูลที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็สามารถสรุปได้ว่า บรรดารถที่ใช้งานกันตามปกติ   หากต้องการ ประหยัดเชื้อเพลิง  และช่วยลดมลภาวะ   โดยการดับสวิทช์หยุดการทำงานของเครื่องยนต์   ช่วงรถหยุดรอสัญญาณไฟ   หรือช่วงที่การจราจรติดขัด รถไม่สามารถขยับเคลื่อนตัว   ก็สามารถช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง   และลดมลภาวะลงได้  แต่อย่าลืมว่า  รถจะต้องมีระบบไฟ  และระบบจุดระเบิดที่ดี   มอเตอร์สตาร์ทยังสามารถใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา   รวมทั้งแบตเตอรี่ก็สมบูรณ์ด้วย  ซึ่งโดยทั่วไปพวกรถที่มีระบบตัดการทำงานของเครื่องยนต์อัตโนมัติ   จะใช้แบตเตอรี่แตกต่างกับพวกรถธรรมดาอยู่บ้าง  เพราะที่แบตเตอรี่   จะมีสติ๊กเกอร์บอกเอาไว้เลยว่า   ใช้สำหรับรถที่มีระบบตัดการทำงานของเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติ   พวก "Auto Stop"  หรือ  "Idling Stop"  แปะติดเอาไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น