วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ทำความรู้จักกับ ล้อแม็กซ์ ที่ใครๆ ก็ใส่กัน

ทำความรู้จักกับ "ล้อแม็กซ์" ที่ใครๆ ก็ใส่กัน ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้ถึงกรรมวิธีการผลิตล้อว่าล้อแต่ละแบบมีกระบวนการและขึ้นตอนในการสร้างสรรค์ชิ้นงานกันอย่างไร ตอนนี้เรามาทำความรู้จักกับเจ้า โลโก้ประหลาด ที่คุ้นตาบนล้อกันก่อนดีกว่า เจ้าโลโก้ พวกนี้จะแตกต่างกันไปตามแหล่งผลิต ครั้งนี้ขอเอามาเฉพาะ "ญี่ปุ่น" กับ "ยุโรป" เพราะเห็นกันบ่อย

1. JAWA หรือ Japan LightAlloy Wheel Association เป็นองค์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลและศึกษาล้ออัลลอย์ที่ลูกค้าซื้อเปลี่ยนกับล้อเดิมที่ติดรถมา (after market) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนามาตรฐานของล้ออัลลอย์ให้ได้คุณภาพตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในการใช้งานรูปแบบต่างๆ

2. VIA หรือ Vehicle Inspection Association เป็นหน่วยงานที่รับหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพของล้อรูปแบบต่างๆ ว่าการออกแบบและคุณประโยชน์เป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานของ JWL หรือ JWL-T หรือไม่ การที่ล้อจะสามารถใช้เครื่องหมายนี้ได้ ล้อดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบจนผ่านมาตรฐานตัวใดตัวหนึ่ง

3. JWL หรือ Japan Light Alloy Wheel (JWL) Standard for Passenger Cars เป็นมาตรฐานความปลอดภัยของล้ออัลลอย์ที่ใช้กับรถยนต์นั่งทุกชนิด โดยทางกระทรวงคมนาคมของประเทศญี่ปุ่นจะเป็นผู้ดูแลในส่วนนี้รวมไปถึงการควบคุมการปลอมแปลงที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย

4. JWL-T หรือ Japan Light Alloy Wheel Standard for TRUCK & BUS เป็นมาตรฐานความปลอดภัยของล้ออัลลอย์ที่ใช้กับรถยนต์เช่นเดียวกัน แต่การตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยจะถูกแยกออกมาเพื่อบังคับใช้เป็นมาตรฐานสำหรับรถ Bus และ Truck ที่เน้นไปในเรื่องของการพาณิชย์ที่จะต้องมีความปลอดภัยสูง

5. TVs หรือ Technischer berwachungs-Verein. ถ้าภาษาอังกฤษจะย่อมาจาก Technical Inspection Association องค์กรที่ทำงานเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทุกชนิด เพื่อปกป้องมนุษย์และสิ่งแวดล้อมกับอันตราย และเป็นหน่วยรับรอง มาตรฐานสากลต่างๆ เช่น ISO9001:2008 (ระบบการจัดการคุณภาพ) และ ISO/TS16949 (คุณภาพระบบการจัดการยานยนต์)

จะเห็นว่า "สัญลักษณ์" ทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับมาตรฐานในเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะล้อจะเป็นตัวที่ช่วยให้รถขับเคลื่อน รองรับน้ำหนักและภาระต่างๆ ที่จะถูกกระทำลงสู่ท้องถนนโดยตรง หากล้อที่คุณใช้อยู่มีมาตรฐานเหล่านี้ปรากฏก็มั่นใจได้ว่าคุณจะได้มาซึ่งความปลอดภัยอย่างเต็มที่ แต่ถ้ามีสัญลักษณ์อื่นอยู่บนล้อแทน ก็ลองนำสัญลักษณ์ดังกล่าวไปเปรียบเทียบใน กูเกิล กันได้ เพราะว่าล้ออาจจะไม่ได้ถูกผลิตมาจาก 2 แหล่งดังกล่าว อาจจะมาจากประเทศที่มีเครื่องหมายเฉพาะก็เป็นได้ แต่ถ้าใครคิดจะเล่นล้อ ญี่ปุ่น กับ เยอรมัน 5 สัญลักษณ์ที่กล่าวมานั้นรองรับให้ได้แน่นอน

 คราวนี้เรามาพูดถึงเรื่องราวของการผลิต "ล้อแม็กซ์" กันบ้าง หลายๆ คนคงจะสงสัยในวิธีการผลิตว่า เค้าทำกันอย่างไร มีอะไรแตกต่าง หลายๆ คนยังมีความเข้าใจที่ ไม่ตรงประเด็น เท่าไหร่นักวันนี้จึงจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เริ่มจากประเภทของการขึ้นรูป ชิ้นงานกันก่อน โดยส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการทำงานอยู่ 2 แบบหลักๆ นั่นคือ

1. Cast Alloy Wheels
หรือที่เรียกกันว่าแบบอะลูมิเนียมหล่อ "ล้อแม็กซ์" ในบ้านเราส่วนใหญ่จะใช้วิธีการผลิตแบบนี้ เนื่องจากใช้เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตนั้นมีราคาไม่สูงมาก กระบวนการผลิตง่ายไม่ซับซ้อนและยังสามารถออกแบบลวดลายได้ตามต้องการ สำหรับการ "หล่อ" นั้น เครื่องจักรที่ใช้ผลิตจะถูกแยกประเภทออกไปอีกถึง 4 แบบ โดยแต่ละแบบจะให้คุณภาพของชิ้นงานแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ แนวทาง ของโรงงานผู้ผลิต

- แบบที่หนึ่ง Gravity หรือ "การเท" คือการหลอมละลายอะลูมินั่มอัลลอย์และส่วนผสมในการผลิต ด้วยความร้อนสูง แล้วทำการเทส่วนผสมนั้นลงในแบบแม่พิมพ์ สารหลอมละลายนั้นจะไหลลงไปในแม่พิมพ์จนเต็มพื้นที่ตามแรงดึงดูดของธรรมชาติ ไม่มีการควบแน่นใดๆ ทั้งสิ้น ชิ้นงานที่ได้ภายในมีฟองอากาศอยู่ในเนื้องาน เป็นจำนวนมาก ความแข็งแรงน้อย ในสมัยก่อนใช้กันเยอะ ปัจุบันไม่นำมาใช้กันแล้ว

- แบบที่สอง High Counter Pressure Molding กรรมวิธีผลิตก็จะเป็นไปตามชื่อ การผลิตจะใช้วิธีหลอมอะลูมินั่มอัลลอย์แบบผสม จากนั้นทำการ ฉีดวัตถุดิบเข้าสู่แม่พิมพ์ด้วยแรงดันสูงจนเนื้อวัตถุดิบไปอยู่เร็มพื้นที่ การฉีดอะลูมินั่มอัลลอย์แบบนี้แม้จะใช้แรงดันที่สูงมาก แต่ก็ยังมีฟองอากาศอยู่ภายในชิ้นงานไม่น้อยทีเดียว แถมผิวของชิ้นงานยังไม่เรียบอีกต่างหาก รูพรุนต่างๆ เหล่านี้มีผลทำให้ถ่วงล้อได้ยาก ไม่ค่อยได้ศูยน์ ความแข็งแรงต่ำ ถ้าจะให้ล้อแข็งแรงชิ้นงานก็จะต้องหนา ล้อมีน้ำหนักมากปัจจุบันไม่ใช้กันแล้ว

- แบบที่สาม Counter Pressure เป็นการผลิตแบบแรงดันต่ำ แตกต่างจากแบบที่สองตรงที่ เครื่องจักรจะเป็นระบบแม่พิมพ์แบบสูญญากาศ แล้วดูดเอาอะลูมินั่มอัลลอย์ที่หลอมละลายแล้วเข้าสู่แบบแม่พิมพ์ จนวัตถุดิบเต็มชิ้นงานอย่างทั่วถึง ฟองอากาศในเนื้องานมีน้อยกว่า ล้อที่ผลิตจากกระบวนการนี้จะมีความแข็งแรงไม่จำเป็นจะต้องทำชิ้นงานหนา ผิวงานด้านนอกเรียบสวย ล้อแมกซ์ ที่ได้รับมาตรฐานต่างๆ ด้านบนส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีผลิตแบบนี้แต่ต้นทุนก็จะค่อนข้างสูง

- แบบที่สี่ Centrifugal เป็นการผลิตแบบใช้แรงเหวี่ยง นำอะลูมินั่มอัลลอย์ที่หลอมละลายแล้ว ฉีดเข้าไปในแบบแม่พิมพ์ แล้วขึ้นเครื่องหมุนแบบใช้แรงเหวี่ยง จนเนื้ออะลูมินั่มอัลลอย์รวมตัวกันแน่น การรวมตัวของเนื้อวัตถุดิบจะสม่ำเสมอทั่วกันทั้งแม่พิมพ์ จากนั้นปล่อยให้ชิ้นงานเย็นตัวลงอย่างช้าๆ จากนั้นจึงแกะแบบออกชิ้นงานนี้จะมีความแข็งแรงสูงมาก ผิวงานสวยงาม แต่จะมีข้อเสียอยู่ที่ขั้นตอนการเตรียมที่จะยุ่งยากซับซ้อน ต้นทุนสูงมากจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม ล้อแบรนด์เนมในยุคแรกมักจะใช้วิธีนี้ผลิตกัน

2. Forged Wheels
เรียกกันติดปากว่า Forged เป็นกระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักรแรงกดสูง ที่เรียกว่า Forging โดยการผลิตชิ้นงานจะเริ่มจากการนำแท่งอะลูมิเนียมเกรดพิเศษ หรืออะลูมิเนียมเกรดผสม ที่ส่วนใหญ่จะผสม แมกนีเซียม เข้าไปด้วยเพื่อให้ได้ความแข็งแรง และน้ำหนักเบาควบคู่กันไป วัตถุดิบจะถูกส่งเข้าสู่แม่พิมพ์ แล้วใช้เครื่องจักรแรงกดสูง กด ปั๊ม หลายๆ ครั้ง จนแท่งอะลูมิเนียมเป็นรูปชิ้นงานตามแบบแม่พิมพ์ การผลิตล้อแมกซ์แบบนี้ใช้ต้นทุนสูงมาก แต่จะได้ชิ้นงานที่มีความแข็งแรงสูงสุดปราศจากฟองอากาศ สิ้นเปลืองวัตถุดิบน้อย ชิ้นงานไม่หนาทำให้ได้ล้อที่เบา ล้อแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะช่วยให้รถมีสมรรถนะที่ดีขึ้นจากน้ำหนักที่เบาและมีความแข็งแรง บรรดา รถซิ่ง และ รถแข่ง ใช้กันมาก บรรดาค่ายล้อแบรนด์ดังทั้ง ยุโรป และ ญี่ปุ่น ต่างก็ใช้กรรมวิธีนี้กันทั้งนั้น

การผลิต "ล้อแม็กซ์" นั้นจะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ช่วงหลักๆ ในช่วงแรกคือ ขั้นตอนของการออกแบบและทดสอบ ขั้นตอนที่สองคือขั้นตอนการผลิตจริง (PRODUCTION LINE) ก่อนที่จะมาเป็นล้อลายสวยที่ใส่ในรถเรานั้นดีไซเนอร์ ผู้ออกแบบจะทำงานออกแบบรูปลักษณ์ล้อลายต่างๆ ขึ้นมาโดย ผ่านการ วิจัย ศึกษา และค้นคว้า ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตล้อรุ่นนั้นๆ ว่ามีจุดประสงค์ในการใช้งานอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ทั่วไปจะเน้น

ความแข็งแรงใช้งานได้จริง แต่อาจจะไม่มีลวดลายที่สวยงามมากนัก เพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือล้อที่สร้างขึ้นสำหรับรถแข่งที่จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อรองรับความเร็วระดับ 200 กิโลเมตรต่อนาทีขึ้นไป เป็นต้น

ขั้นตอนของการออกแบบและทดสอบ โดยขั้นตอนการทำงานจะมีคร่าวๆ ดังนี้
1. การออกแบบ เมื่อ ดีไซเนอร์ ได้รับบรีฟจากทีมค้นคว้ามาแล้ว ว่าจะออกแบบล้อเพื่อใช้ในจุดประสงค์อะไร ดีไซเนอร์ก็จะออกแบบล้อขึ้นมาด้วยการ เขียนแบบลงบนกระดาษในหลายๆ รูปแบบจนได้แบบที่ดีที่สุด โดยดีไซเนอร์ แต่ละบริษัทก็จะแตกต่างกันตามระบบและฝีมือในการสร้างสรรค์ บางแห่งใช้ทีมดีไซเนอร์หลายคนร่วมกันพัฒนาชิ้นงาน แต่บางแห่งก็จะมีดีไซเนอร์เพียงคนเดียว เพื่อให้ได้เอกลักษณ์เฉพาะตัว (อย่างหลังจะพบบ่อยในประเทศญี่ปุ่น) สำหรับต้นฉบับก็จะเป็นงานเขียนแบบ ตามหลักการทางวิศวกรรมศาสตร์ มีการกำหนดองศา ความกว้าง ความลึก และส่วนต่างๆ อย่างถูกต้อง สำหรับเมืองไทยตอนนี้มีผู้ผลิตบางรายที่มีดีไซเนอร์เป็นของตัวเอง ออกแบบชิ้นงานเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองจนโด่งดังไปถึงต่างประเทศ

2. สร้างโมเดล (MODEL) ขั้นตอนนี้จะทำก็ต่อเมื่อ แบบมีความลงตัวจากขั้นตอนแรกแล้ว สำหรับโมเดลที่สร้างขึ้นนั้นจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่ง ของวงล้อทั้งชิ้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงจุดเสี่ยงและจุดแข็งตามหลักวิศวกรรมศาตร์โดยส่วนใหญ่จะขึ้นรูปด้วย "เกรย์" หรือดินเหนียวสำหรับงานสร้างแบบโดยเฉพาะ

3. SIMILATON 3D เมื่อวิเคราะห์ถึงข้อดี-ข้อเสีย กันเรียบร้อย คราวนี้จะมาถึงขั้นตอนของการ สร้างแบบจำลอง 3มิติ โดยจะเป็นการเขียนแบบขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยจะกำหนดค่าองศาและระยะส่วนต่างๆ ของล้อตามต้นฉบับเมื่อเขียนโปรแกรมเสร็จ ล้อจะปรากฏให้เห็นในลักษณะภาพกราฟฟิค 3มิติ พร้อมระบุถึง จุดรับแรงต่างๆ ด้วยสีสันที่ต่างกันไป ทำให้การปรับปรุงทำได้ดีขึ้น

4. ผลิตชิ้นงานจริง (PROTOTYPE) จากนั้น วิศวกรจะทำการนำแบบ 3มิติ มาผลิตเป็นแม่พิมพ์แล้วผลิตชิ้นงานขึ้นจริง โดยใช้วัสดุตามที่ได้ระบุเอาไว้ตั้งแต่ต้น ล้อก็จะสมบูรณ์รอเข้าสู่กระบวนการต่อไป

5. วัดค่าต่างๆ เมื่อได้ล้อ "โปรโตไทป์" ก็อาจจะมีข้อผลิตพลาดเกิดขึ้นได้ ทางทีมออกแบบก็จะตรวจสอบมุมองศาและระยะต่างๆ ว่าถูกต้องหรือไม่ มีจุดไหนที่ผิดพลาด จะได้แต้ไขได้ทันก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต

6. ทดสอบคุณภาพ (TESTING) เมื่อได้ "ล้อเสมือนจริง" ขึ้นมาทางบริษัทก็จะนำล้อที่ได้ไปทดสอบค่าความแข็งแรงรูปแบบต่างๆ หากไม่ผ่านในข้อใดก็ต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด แต่ถ้าผ่านก็จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตทันที

 ขั้นตอนที่สองคือขั้นตอนการผลิตจริง จะมีขั้นตอนดังนี้
1. เตรียมวัสดุ แต่ละบริษัทจะมีสูตร การเตรียมวัสดุแตกต่างกันตามแต่การคิดค้นและวิจัย ซึ่งเป็นความลับของบริษัท แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบบ อะลูมินั่มอัลลอย์ เป็นการผสมผสานระหว่างโลหะหลายชนิดโดยมีอะลูมิเนียมและอัลลอย์ เป็นส่วนประกอบหลัก แต่บางทีก็จะมี แมกนีเซียม ผสมลงไปด้วย เพื่อให้ได้ความแข็งแกร่งที่มากขึ้น โดยโลหะทั้งหมดจะเข้าไปยังเตาหลอมเพื่อทำให้มีสถานะเป็นของเหลว

2. หล่อชิ้นงาน ในขั้นตอนนี้จะเป็นการนำ โลหะเหลวดังกล่าว มาเทลงแม่พิมพ์เพื่อขึ้นรูปชิ้นงานตามการออกแบบบางทีขั้นตอนนี้ก็จะนำ แม่พิมพ์จริงมาใช้ เพื่อลดขั้นตอนการผลิต เมื่อของเหลวเย็นตัวก็จะมีรูปร่างเหมือนล้อ
แต่ถ้าเป็นล้อฟอร์จ ก็จะเข้าสู่กระบวนการต่อไป

3. บีบ-อัดชิ้นงาน เป็นเทคโนโลยีเฉพาะของการผลิตล้อที่ไม่เหมือนกันของแต่ละแห่ง บางแห่งจะเป็นการนำโลหะที่ขึ้นรูปเป็นทรงกลมแล้วมาใช้แรงกระแทกบีบ-อัด จนขึ้นรูปเป็นล้อลายต่างๆ ตามโมล แต่บางที่ก็จะนำล้อ
ที่ขึ้นรูปเรียบร้อยแล้วมาอัดซ้ำให้มีขนาดเล็กลง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงอีกครั้งหนึ่ง

4. เมื่อได้งานดิบแล้ว คราวนี้ล้อจะถูกลำเลียงด้วย แขนกล และ สายพาน ส่งต่อไปยังเครื่อง CNC CUTING เพื่อเก็บงานรายละเอียดในส่วนต่างๆ ของล้อที่เกินมาจากกระบวนการบีบอัด โดยมีดกลึงจะทำงานตามค่าที่วิศวกรป้อนเข้าไปเพื่อไม่ให้ล้อมีส่วนเกินที่ไม่ต้องการ และเป็นการเก็บหน้าชิ้นงานให้เนียนสวย ในขั้นตอนนี้บางบริษัทก็จะมีการใช้เทคโนโลยี SPINNING RIMS เข้ามาช่วยให้ขอบล้อมีความแข็งแรงและช่วยให้ล้อมีน้ำหนักเบา ด้วยการนำล้อเข้าไปในเบ้าแล้วอบให้มีอุณหภูมิสูงให้โลหะอ่อนตัวจากนั้นใช้ล้อกลิ้งดันเนื้อโลหะให้เคลื่อนที่ไปตามเบ้าก็จะได้ขอบล้อที่บางแต่เป็นชิ้นเดียวกับล้อนั่นเอง

5. เก็บงานด้วยเครื่องจักรหรือมนุษย์ ในขั้นตอนนี้ ล้อ2ชิ้นในส่วนของชิ้นหน้าจะถูกส่งไปเข้าเครื่องกลึงอีกครั้ง เพื่อสร้างลวดลายตามแบบที่ต้องการ แล้วค่อยนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป จากนั้นล้อทั้งหมดจะถูกเก็บงานด้วยมนุษย์อีกครั้งซึ่งมือคนก็จะละเอียดกว่าเครื่องจักร ส่วนที่เกินออกมาแล้วเครื่องจักรเก็บงานไม่หมด พนักงานในส่วนนี้ก็จะทำหน้าที่เจียร์ส่วนเกินทิ้งไป

6. COLOUR PAINTING จากนั้นล้อบางรุ่นที่จะต้องทำสี จะถูกส่งเข้าเครื่องพ่นสี เพื่อทำสีออกมาให้ได้ตามความต้องการของผู้ผลิต โดยจะใช้หัวฉีดแรงดันสูงพื้นสีเป็นละอองละเอียดเพื่อให้สีออกมาเนียนมากที่สุด

7.ตรวจสอบชิ้นงานขั้นสุดท้าย เมื่อกระบวนการทำงานเสร็จสิ้น ล้อแมกซ์ก็จะถูกตรวจสอบด้วยมนุษย์ เป็นครั้งสุดท้ายว่ามีอะไรผิดพลาดหรือไม่ โดยพนักงานจะใช้สายตาและการสัมผัสชิ้นงานตรวจสอบในทุกรายละเอียดของชิ้นงาน

8. ปิดผนึกพร้อมส่งมอบสินค้า ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการ นั่นคือการปิดผนึกในขั้นตอนนี้พนักงานจะนำโลโก้และสติกเกอร์ต่างๆ มาปิดลงไปบนล้อ เพื่อบอกถึงสเปกของล้อลายนั้นๆ จากนั้นก็จะบรรจุลงกล่องเพื่อรอขนส่งไปยังร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหรือผู้บริโภคต่อไป
ในแต่ละขั้นตอนการผลิตนั้น "แขนกล" และ "เครื่องจักร" จะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก หากใช้เครื่องจักรที่มีคุณภาพต่ำชิ้นงานก็จะออกมาไม่ดี เกิดความผิดพลาดเสียหายเยอะ อาจจะทำให้ผู้ผลิตเกิดความเสียหายได้พอสมควรเลยทีเดียวและหากการตรวจสอบไม่มีคุณภาพมากพอ ก็อาจจะส่งผลอันตรายถึงผู้บริโภคได้เช่นกัน สำหรับล้อราคาแพง ที่ใส่กันอยู่นั้นที่มันมีราคาสูงก็เริ่มจากแหล่งผลิตที่จะต้องมีการเสียภาษีและการขนส่งที่สูง นอกจากนี้ส่วน

สำคัญก็คือ "ค่าฝีมือ" ในการออกแบบกว่าล้อจะเสร็จออกมาหนึ่งลายต้องใช้เม็ดเงินไม่น้อยในการวิจัยและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากที่สุด แตกต่างจากล้อเลียนแบบ ที่ใช้เพียงแค่การผลิตเท่านั้น จึงสามารถลดต้นทุนให้ต่ำลงมาได้นั่นเอง

สุดท้ายใครจะใช้ "ล้อแท้" หรือ "ล้อเทียม" ก็เลือกเอาตามงบประมาณที่มี แต่ที่สำคัญควรใช้งานล้อให้ถูกจุดประสงค์และต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตสักนิดว่าล้อที่เราใช้มันจะแข็งแรงแค่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น