สิ่งหนึ่งที่กล่อง ECU จำเป็นต้องรู้ก็คือตอนนี้มีอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์เท่าใด เพื่อที่กล่อง ECU จะได้ทำการคำนวณว่าจะต้องสั่งให้หัวฉีดจ่ายเชื้อเพลิงปริมาณเท่าใด และจะต้องจุดระเบิดที่ตำแหน่งใด แต่การที่จะรู้ว่ามีอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์เป็นจำนวนเท่าใดนั้นกล่อง ECU ไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยตัวเองต้องอาศัยอุปกรณ์บางอย่างที่จะเป็นตัวบอกจำนวนอากาศที่เข้าสู่เครื่องยนต์ สำหรับเครื่องยนต์ที่ควบคุมการทำงานด้วย
ระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ (เฉพาะหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น พวกหัวฉีดเชิงกลหรือหัวฉีดเชิงกลที่ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ และหัวฉีดของเครื่องดีเซลไม่เกี่ยว) เครื่องยนต์ประเภทนี้จะมีอุปกรณ์ที่บอกจำนวนอากาศที่เข้าสู่เครื่องยนต์อยู่ 2 แบบใหญ่ คือ
แบบแรกจะวัดแรงดันอากาศที่จะเข้าสู่เครื่องยนต์ แบบที่สองจะวัดปริมาณอากาศที่เข้าสู่เครื่องยนต์ การวัดจำนวนอากาศทั้ง 2 แบบกล่อง ECU สามารถที่จะนำค่าที่ได้ไปคำนวณได้ว่าจะต้องจ่ายเชื้อเพลิงให้แก่เครื่องยนต์เท่าใด จึงจะมีส่วนผสมของไอดีที่พอเหมาะ การที่เครื่องยนต์จะใช้ระบบการวัดจำนวนอากาศแบบใดนั้นก็แล้วแต่ว่าบริษัทผู้ผลิตออกแบบมาอย่างไร อย่างเช่นการวัดแรงดันอากาศที่เข้าสู่เครื่องยนต์จะเห็นได้ในเครื่องยนต์ยอดฮิตของ TOYOTA ในรหัส JZ ทั้ง 1JZ และ 2JZ โดยมีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการวัดแรงดันก็คือ PRESSURE SENSOR หรือบางท่านอาจจะเรียกว่า MPA SENSOR (MANIFOLD ABSOLUTE PRESSURE SENSOR) PRESSURE SENSOR จะทำหน้าที่วัดแรงดันของอากาศที่จะเข้าสู่เครื่องยนต์แล้วส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าเข้าไปยังกล่อง ECU ส่วนการวัดปริมาณอากาศที่เข้าสู่เครื่องยนต์ก็ต้องมีอุปกรณ์ในการวัดปริมาณเช่นกัน อุปกรณ์ตัวที่ว่านี้ก็คือ "AIRFLOW METER" หรือถ้าจะเรียกเป็นภาษาไทยก็แปลได้ตรงๆ เลยก็คือ มาตรวัดการไหลของอากาศ
มีหน้าที่ในการวัดปริมาณอากาศที่ไหลเข้าสู่เครื่องยนต์แล้วส่งค่าที่ได้จากการวัดไปให้กล่อง ECU คำนวณ AIRFLOW METER นี้ก็มีอยู่ด้วยกันหลายแบบแล้วแต่ว่าเครื่องยนต์จากค่ายใดจะเลือกใช้ "AIRFLOW METER" แบบใด แต่ "AIRFLOW METER" ที่เราจะพูดถึงนี้เป็น "AIRFLOW METER" จากค่าย NISSAN ก็เป็นเพราะว่าการที่จะปรับแต่งเครื่องยนต์ของค่าย NISSAN นั้น ถ้าสังเกตให้ดีจากรถที่ปรับแต่งในประเทศไทยบางคันหรือรถที่ปรับแต่งในประเทศญี่ปุ่นจะทำการเปลี่ยน AIRFLOW METER กันแทบทั้งนั้น โดยนิยมที่จะนำ AIRFLOW METER จากเครื่อง VG30DETT หรือถ้าเรียกจากรหัสของตัวรถก็คือ Z32 (NISSAN 300ZX) มาใช้แทนของเดิมอย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ก็คงจะเป็นเครื่องยนต์ NISSAN SR20DET ทุกๆ แบบไม่ว่าจะเป็นแบบ ฝาแดง ฝาดำเรียบ ฝาดำโหนกทั้งจาก S14 และ S15 หรือจะเป็นพวกขับเคลื่อน 4ล้อ ทั้งหลาย
ในบ้านเราก็มีผู้ที่ปรับแต่งเครื่องยนต์ตระกูล SR20 ที่ได้เปลี่ยนมาใช้ "AIR FLOW METER" จากเครื่อง VG30DETT นี้อยู่หลายคันเช่น เครื่องยนต์ SR20DET ที่ปรับแต่งโดย มร.โคยามา แห่ง JUN AUTO MECHANIC ในรถ 200SX ของเฮียตี๋ หรือ NISSAN SILVIA S14 ของคุณอาร์ท หรือจะเป็นเครื่อง SR20DET ที่ปรับแต่งโดยฝีมือคนไทยก็เป็น NISSAN PULSAR และ NISSAN NV ขับเคลื่อน 4 ล้อตัวเก่งในอดีตของทาง C&L ก็ใช้ AIR FLOW METER จากเครื่อง VG30DETT เช่นกัน
จริงๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะเครื่อง SR20DET เท่านั้นที่สามารถจะนำ AIRFLOW METER จากเครื่อง VG30DETT มาใช้ได้ เครื่องยนต์ของ NISSAN หลายรุ่นก็เคยนำ AIR FLOW METER ของ VG30DETT มาใส่กันอย่างเช่นเครื่องยนต์ตัวแรงอย่าง RB26DETT ที่ผ่านการปรับแต่งอย่างดุเดือดก็สามารถที่จะนำ AIR FLOW METER ของเครื่อง VG30DETT มาใช้ได้ แล้วทำไมต้องเปลี่ยนไปใช้ AIR FLOW METER ของเครื่องยนต์ด้วยล่ะ AIR FLOW METER ที่ทางโรงงานผู้ผลิตออกแบบมาไม่ดีหรืออย่างไรถึงต้องเปลี่ยนไปใช้ของเครื่อง VG20DETT กันแทบทั้งนั้น
เรามาคุยกันถึงสาเหตุที่ต้องเปลี่ยน AIR FLOW METER กันดีกว่า เหตุผลอย่างแรกที่หลายๆ คนเข้าใจก็คือ เรื่องของขนาดเส้นผ่าศูยน์กลางของตัว AIR FLOW METER สำหรับเครื่อง SR20DET นั้นตัว AIR FLOW METER เมื่อดูจากภายนอกจะดูเหมือนว่ามีขนาดใหญ่พอสมควรแต่ถ้าดูที่ช่องทางสำหรับอากาศผ่านแล้วจะเห็นได้ว่ามีขนาดไม่ใหญ่เท่าใดนักคือ มีเส้นผ่านศูยน์กลางภายในเพียง 65mm. (เท่ากันทุกรุ่นทั้ง ฝาแดง ฝาดำ ฝาดำโหนกและขับเคลื่อน 4 ล้อ )
เมื่อทำการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้มีกำลังมากขึ้นนั่นก็หมายความว่าเครื่องยนต์ต้องการปริมาณอากาศที่มากขึ้นแต่ช่องทางสำหรับอากาศไหลผ่านยังมีเท่าเดิมทำให้ไม่สามารถเค้นแรงม้าออกมาได้เต็มที่ จึงต้องทำการเปลี่ยน AIRFLOW METER ที่มีช่องทางใหญ่ขึ้นรวมไปถึงการเปลี่ยนลิ้นปีกผีเสื้อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย ในที่นี้เราคุยกันเฉพาะเรื่อง AIRFLOW METER ก่อน การที่เลือกใช้ AIRFLOW METER ของเครื่อง VG30DETT นั้นก็เพราะมีขนาดเส้นผ่านศูยน์กลางถึง 80mm. ทำให้อากาศสามารถไหลผ่านเข้าสู่เครื่องยนต์ได้อย่างพอเพียง
แต่ช้าก่อน AIRFLOW METER ที่มีขนาดใหญ่ไม่ได้มีเพียงของเครื่อง VG30DETT เท่านั้น เพราะว่ายังมี AIRFLOW METER ของเครื่อง RB20DET ที่มีขนาดเท่ากันคือ 80mm. และยังมี AIRFLOW METER จากเครื่อง VH45DE ในตัวถัง INFINITY Q45 ที่มีขนาดใหญ่ถึง 90mm. ใหญ่กว่าของเครื่อง VG30DETT และ RB20DET เสียอีก ถ้าเหตุผลในการเปลี่ยน AIR FLOW METER ก็เพื่อต้องการให้ช่องทางสำหรับอากาศไหลผ่านโตขึ้นเท่านั้น ทำไมคนญี่ปุ่นถึงนิยมใช้แต่ AIRFLOW METER ของเครื่อง VG30DETT เท่านั้น การเปลี่ยน AIR FLOW METER เพื่อให้มีช่องทางใหญ่ขึ้นก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่ไม่ใช่จุดที่สำคัญเพราะมีเหตุผลข้อที่สองที่สำคัญกว่าก็คือ การเปลี่ยน AIRFLOW METER เพื่อที่จะสามารถอ่านค่าปริมาณอากาศที่จะเข้าสู่เครื่องยนต์ได้มากกว่าเดิม เหตุผลข้อนี้ค่อนข้างที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ยากพอสมควร จึงจะขอพูดถึงการทำงานของ AIR FLOW METER จากเครื่อง NISSAN กันก่อนก็แล้วกัน AIR FLOW METER ที่ทางค่าย NISSAN เลือกใช้ในปัจจุบันเป็น AIR FLOW METER แบบ HOT WIRE หรือบางท่านอาจจะเรียกว่า HOT FUSE
คือจะมีขดลวดเล็กๆ เป็นตัววัดปริมาณอากาศ เมื่อมีอากาศไหลผ่านผ่านขนลวดนี้จะทำให้อุณหภูมิของขดลวดเปลี่ยนไปและเจ้าขดลวดเล็กๆ นี้จะเปลี่ยนความต้านทานไปด้วยเมื่อค่าความต้านทานเปลี่ยนไปค่าแรงดันไฟฟ้าที่ส่งออกมาจาก AIR FLOW METER ก็จะเปลี่ยนไปด้วย แล้วแต่ว่าในขณะนั้นมีอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์มากเท่าใด การที่แรงดันไฟฟ้าที่ส่งออกมาจาก AIR FLOW METER เปลี่ยนแปลงนี้กล่อง ECU จะรับรู้ค่าที่เปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะคำนวณว่าจะต้องจ่ายเชื้อเพลิงเป็นจำนวนเท่าใดจึงจะมีส่วนผสมของไอดีที่พอเหมาะกับสภาพการทำงานของเครื่องยนต์ และจะต้องปรับองศาการจุดระเบิดไปที่ใดจึงจะพอดี
สรุปง่ายๆ ก็คือถ้าปริมาณอากาศที่ผ่าน AIR FLOW METER เข้าสู่เครื่องยนต์น้อย แรงดันไฟฟ้าก็จะน้อย แต่ถ้าปริมาณอากาศที่ผ่าน AIR FLOW METER เข้าสู่เครื่องยนต์มากแรงดันไฟฟ้าก็จะมากขึ้นด้วย แล้วถ้าปริมาณอากาศที่ผ่าน AIR FLOW METER มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเครื่องที่ทำการปรับแต่ง AIR FLOW METER จะส่งแรงดันไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ถึงแค่ไหนถ้าปริมาณอากาศที่เข้าสู่ AIR FLOW METER มีจำนวนมหาศาล AIR FLOW METER จะส่งแรงดันออกมาได้ถึง 10000 VOLT หรือไม่
ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะในการออกแบบ AIRFLOW METER นั้น เป็นการออกแบบมาตรวัดชนิดหนึ่งจะต้องมีการกำหนด LIMIT ของค่าที่จะสามารถวัดได้อย่างเช่นในมาตรวัดแรงดันเทอร์โบ หรือที่เรียกกันว่า "วัดบูสท์" ก็จะต้องกำหนดว่าวัดบูสท์ตัวนี้สามารถวัดบูสท์ได้ถึงเท่าใด วัดบูสท์บางตัววัดแรงดันได้ถึง 1.0kg/cm ก็สามารถใช้ได้กับเครื่องที่ไม่ต้องการบูสท์หนัก แต่ถ้าเกิดอยากที่จะปรับอัตราการบูสท์ให้สูงขึ้นกว่า 1.0kg/cm วัดบูทส์ตัวเดิมคงไม่สามารถที่จะวัดแรงดันที่แน่นอนได้ ต้องเปลี่ยนไปใช้วัดบูสท์ที่วัดแรงดันได้สูงขึ้นอาจจะเปลี่ยนไปใช้ตัวที่สามารถวัดได้ 1.5 - 2.0kg/cm
การเปลี่ยน AIR FLOW METER ก็คล้ายๆ กับการเปลี่ยนวัดบูสท์นี่แหละ เพราะว่าถ้า
ทำการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้มีแรงม้ามากขึ้นก็หมายความว่าจะต้องป้อนปริมาณอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์ให้มากขึ้นจน AIR FLOW METER เดิมๆ ไม่สามารถอ่านปริมาณอากาศที่แท้จริงได้ จึงต้องเปลี่ยนไปใช้ AIR FLOW METER จากเครื่อง VG30DETT ซึ่งเป็นเครื่อง V6 ความจุ 3000cc. TWIN TURBO ด้วยความที่เป็นเครื่องยนต์ที่มีความจุมากกว่า มีแรงม้ามากกว่านี่เองทำให้ AIRFLOW METER ของเครื่องยนต์รุ่นนี้สามารถที่จะอ่านปริมาณอากาศได้มากกว่าของเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กอย่างเครื่อง SR20DET แต่ในญี่ปุ่นก็ไม่ได้ใช้เฉพาะ AIR FLOW METER ของเครื่อง VG30DETT เท่านั้น ยังสามารถที่จะใช้ AIR FLOW METER ของเครื่อง VH45DE ที่เป็นเครื่องไม่มีเทอร์โบ แต่มีความจุกระบอกสูบถึง 4500cc. และตัว AIR FLOW METER ยังมีขนาดใหญ่ถึง 90mm. แต่ AIR FLOW METER ของเครื่อง VH45DE นี้ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับของเครื่อง VG30DETT ปัญหาในการที่จะเปลี่ยนไปใช้ AIRFLOW METER จากเครื่อง VG30DETT การที่จะเปลี่ยนไปใช้ AIR FLOW METER ของเครื่องอื่นนั้นไม่สามารถที่จะนำมาใส่แล้วใช้งานได้ทันที เพราะว่าในขณะที่เดินเบานั้น AIR FLOW METER เดิมๆ จะส่งแรงดันไฟฟ้าออกมาประมาณ 1.6 VOLT แต่เมื่อนำAIR FLOW METER ของเครื่อง VG30DETT ที่มีความจุของเครื่องยนต์มากกว่าเครื่อง SR20DET มาใช้ แรงดันไฟฟ้าที่ส่งออกมาจาก AIR FLOW METER ของเครื่อง VG30DETT นั้นจะน้อยกว่าคือ จะส่งแรงดันไฟฟ้า ออกมาเพียง ประมาณ 1.2-1.3 VOLT เท่านั้น เพราะตัว AIR FLOW METER ถูกออกแบบมาให้อ่านปริมาณอากาศในเครื่องยนต์ที่มีความจุ 3,000 cc. เมื่อนำมาใช้ในเครื่อง 2,000 cc. จึงอ่านปริมาณอากาศได้น้อยมาก ทำให้แรงดันไฟฟ้าที่ส่งออกมา ทำให้กล่อง ECU ที่ถูกโปรแกรมไว้แล้วจ่ายเชื้อเพลิงออกมาน้อยไปด้วยเพราะคิดว่ามีปริมาณอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์น้อยจนทำให้เครื่องยนต์ไม่สามารถเดินเบาอยู่ได้ และเมื่อเร่งเครื่อง
ขึ้นไปก็จะเกิดอาการขาดน้ำมันอย่างรุนแรง
สำหรับบางท่านที่ต้องการเปลี่ยน AIR FLOW METER เพื่อจะได้มีช่องทางใหญ่ขึ้นเท่านั้น แนะนำว่าให้ใช้ AIR FLOW METER จากเครื่อง RB20DET จะง่ายกว่าเพราะมีขนาดที่โตถึง 80mm. และเป็นเครื่องที่มีความจุเพียง 2,000 cc. เท่ากับเครื่อง SR20DET ปัญหาเรื่องการจ่ายเชื้อเพลิงน้อยเกินไปไม่น่าจะรุนแรงนักแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น อาการที่เกิดขึ้นบางท่านบอกว่าน่าจะเกิดขึ้นเพราะขนาดช่องทางของตัว AIR FLOW METER ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ความเร็วของอากาศที่ไหลผ่านลดลงทำให้ AIR FLOW METER ส่งค่าออกมาว่าปริมาณอากาศผ่านน้อย อันนี้ก็อาจจะมีส่วนเป็นไปได้ จึงได้ทดลองนำ AIR FLOW METER เดิมๆ ของเครื่อง SR20DET ไปทำการคว้านช่องทางภายในให้มีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 4mm. แล้วใช้ชุดขดลวด HOT WIRE ของเดิมใส่เข้าไปเมื่อนำไปใส่ในเครื่องยนต์ปรากฎว่าจากเดิมที่เคยส่งแรงดันไฟฟ้าออกมาประมาณ 1.6 VOLT เมื่อทำการคว้านแล้วจะส่งแรงดันไฟฟ้าออกมาได้ประมาณ 1.5 VOLT ทำให้กล่อง ECU สั่งจ่ายเชื้อเพลิงน้อยลงเล็กน้อย จากนั้นก็ได้ทำการทดลองอีกครั้งโดยการนำ AIR FLOW METER จากเครื่อง SR20DET ที่มาจาก PULSAR ขับเคลื่อน 4 ล้อ มาทดลองใส่ในเครื่อง SR20DET ฝาแดงขับหลัง ก็ปรากฎว่าเกิดอาการน้ำมันขาดเช่นกันทั้งๆ ที่ตัว AIR FLOW METER ของ PULSAR และฝาแดงขับหลังมีขนาดของช่องทางที่ให้อากาศไหลผ่านโตเท่ากัน และเป็นเครื่องที่มีความจุ 2,000 cc. เท่ากัน จริงๆ แล้วก็น่าที่จะส่งแรงดันไฟฟ้าออกมาได้เท่ากันในขณะเดินเบา แต่ปรากฎว่าในขณะเดินเบา AIR FLOW METER ของ เครื่องฝาแดงขับหลังจะส่งแรงดันออกมา 1.6 VOLT แต่ AIR FLOW METER ของเครื่อง PULSAR จะส่งแรงดันออกมาประมาณ 1.4 VOLT ทำให้กล่อง ECU สั่งจ่ายเชื้อเพลิงน้อยกว่าปกติจากการทดลองก็น่าจะแสดงว่าถ้าใช้ชุดขดลวด HOT WIRE ชุดเดียวกันขนาดของช่องทางภายในจะมีผลต่อค่าแรงดันไฟฟ้าที่ส่งออกมาแต่ถ้าเปลี่ยน AIR FLOW METER ทั้งตัวแล้วขนาดช่องทางของ AIR FLOW METER ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับค่าที่ AIRFLOW METER จะส่งออกมาได้
แต่สาเหตุหลักน่าจะมาจากการกำหนดช่วงที่สามารถอ่านค่าปริมาณอากาศของ AIR FLOW METER เพราะ AIR FLOW METER แต่ละตัวจะกำหนดว่าเมื่อมีปริมาณอากาศผ่านเท่าใด จะส่งแรงดันไฟฟ้าออกมาเท่าใด จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนไปใช้ AIR FLOW METER ของเครื่องอื่นนั้นมีความยุ่งยากพอสมควรแต่ทำไมในญี่ปุ่นจึงใช้ AIR FLOW METER ของเครื่อง VG30DETT กันอย่างแพร่หลาย ก็เพราะว่าคนญี่ปุ่นเค้าสามารถแก้ปัญหาได้ ก่อนที่เค้าจะทำการเปลี่ยน AIR FLOW METER ไปใช้ตัวที่สามารถอ่านปริมาณอากาศได้มากกว่าเดิมเค้าจะต้องทำการแก้ไขโปรแกรมภายในกล่องบางส่วนเสียก่อน ข้อมูลส่วนนี้จะเป็นข้อมูลสำหรับ AIR FLOW METER โดยเฉพาะ การแก้ข้อมูลในส่วนนี้ก็เพื่อที่จะให้กล่อง ECU รับรู้ค่าที่ส่งออกมาจาก AIR FLOW METER ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และนอกจากจะแก้ไขข้อมูลในกล่อง ECU แล้วเมื่อทำการปรับแต่งเครื่องยนต์ไปเครื่องยนต์ก็ต้องการปริมาณเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นด้วย จึงมักจะต้องทำการเปลี่ยนขนาดของหัวฉีดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะได้จ่ายเชื้อเพลิงได้เพียงพอต่อความต้องการในการเปลี่ยนขนาดของหัวฉีดนี่เองทำให้ถึงแม้ AIRFLOW METER จะส่งค่าแรงดันไฟฟ้าออกมาที่กล่อง ECU น้อยและกล่อง ECU จะนึกว่ามีอากาศเข้าน้อยและสั่งจ่ายเชื้อเพลิงน้อยลง แต่ด้วยความที่ขนาดของหัวฉีดใหญ่ขึ้น คำสั่งที่สั่งให้หัวฉีดจ่ายเชื้อเพลิงน้อยแต่ก็ได้ปริมาณเชื้อเพลิง
เพียงพอต่อการใช้งาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น