โดยปัจจัยในการเลือกล้อแม็ก ให้สามารถใช้งาน กับรถยนต์รุ่นนั้นๆ ได้ มีอยู่หลายจุดที่ต้องพิจรณา อย่างแรกก็คือ รูน็อต เพราะเราจะเห็นว่าล้อแม็กที่วางอยู่ตามโชว์รูมล้อแม็กนั้น มีรูน็อตที่ยึดกับดุมของรถแบบ 4 รูบ้าง 5 รูบ้าง หรือ 6 รู ก็มี ซึ่งเราก็ต้องดูว่า ตรงกับรถของเราหรือไม่ ขณะที่เมื่อมีรูตรงกันแล้ว ก็ยังต้องดูกันอีกว่า รูที่มีจำนวนเท่าๆ กันนั้น มีระยะห่างของรู ตรงกับรถของตัวเองหรือไม่ เช่น 4 รู ก็มีทั้งแบบ 4 รู ระยะห่างของรู 114.3 ม.ม กับ 100 ม.ม อย่างไรก็ตาม หากต้องการล้อ ที่มีสเปกของรูน๊อตไม่ตรงกับรถของตัวเอง ก็ยังมีวิธีที่จะใส่เข้าไปกับรถของตัวเองได้
แต่ที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้ คือ ค่า OFFSET (ออฟเซ็ต) ของล้อ หรือที่มักจะเขียนกันติดเอาไว้ที่ล้อว่า ET นั่นเอง ซึ่งเราควรจะต้องรู้ว่าค่า "Offset คืออะไร" โดยหากว่ากันตามความหมาย ออฟเซ็ต ก็คือ ระยะห่างระหว่าง หน้าแปลนยึดดุมล้อ (Hub mounting Surface) ภายในล้อแม็ก กับขอบกระทะล้อด้านนอก โดยนับจากจุดกึ่งกลางเป็นจุดตั้ง ซึ่งหน่วยที่ใช้วัดจะเป็นมิลลิเมตร
ค่าออฟเซ็ต ที่ว่านี้มีผลอย่างไร เอาเป็นว่าอธิบายให้เห็นภาพกันง่ายๆ ว่า ออฟเซ็ต ที่ตรงกับค่า สแตนดาร์ด จากโรงงานเมื่อใส่ล้อเข้าไปแล้ว ล้อมักจะอยู่ในซุ้มล้อแบบพอดี ไม่ล้นออกมานอกซุ้ม หรือว่าหุบเข้าไปอยู่ในซุ้มมากเกินไป แต่ถ้าใช้ออฟเซ็ตที่มีค่าลบมากกว่า สแตนดาร์ดมากๆ ก็จะทำให้ล้อหุบเข้าไปในซุ้มมาก ซึ่งบางครั้งอาจจะใส่ไม่ได้ด้วย เพราะแม็กจะไปติดกับช็อคฯ หรือช่วงล่างของรถ
ตัวอย่าง ภาพซ้ายคือออฟเซ็ต -47 ภาพกลางคือออฟเซ็ต 0 ภาพขวาคือออฟเซ็ต +10
ทั้งนี้ค่าออฟเซ็ตศูยน์ (Offset Zero) จะหมายถึง ตำแหน่งยึดดุมล้ออยู่ศูยน์กลางล้อพอดี นั่นหมายถึงว่า ถ้าล้อแม็ก มีความกว้าง 8 นิ้ว ตัวหน้าแปลนยึดดุมล้อ จะอยู่ตรงกลางล้อที่ระยะที่ 4 นิ้วพอดี เยื้องออกมาด้านหน้าของแม็ก ซึ่งถ้าหน้าแปลนยึดดุม เริ่มเดินหน้าออกมา ถือว่าเป็น ออฟเซตบวกทันที (Positive Offset) เช่น เดินหน้าออกจากจุดศูยน์กลางมา 1 มิลลิเมตร เรียก +1 หรือเดินหน้าออกมา 38 มิลลิเมตร เรียก +38 เป็นต้น มาถึง ออฟเซ็ตลบ (Negative Offset) แน่นอนว่าจะเป็นไปในทางตรงข้ามกับ ออฟเซ็ตบวก นั่นคือ ตำแหน่งยึดดุมล้อจะถอยเข้าไปด้านในของล้อ นับจากจุดศูยน์กลางล้อ ยิ่งถอยเข้าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งติดลบมากขึ้นเท่านั้น ล้อแม็กพวกนี้ สังเกตได้คือ ลายด้านหน้าจะอยู่ลึกเข้าไปด้านใน จากขอบล้อด้านนอก สำหรับล้อที่ติดมากับรถ หรือว่าล้อที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีตัวเลข ค่าออฟเซ็ตบอกเอาไว้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มี เราก็สามารถวัดหาค่า ออฟเซ็ทของล้อนั้นๆ ได้เหมือนกัน
วิธีวัดออฟเซ็ตของล้อ
สำหรับล้อที่ยังไม่ได้ใส่ยางจะง่ายกว่า ล้อที่ใส่ยางแล้ว อีกทั้งยังได้ค่าที่ถูกต้องกว่าด้วย สำหรับการจะหาค่าออฟเซ็ตของล้อนั้นๆ เราควรต้องรู้ขนาดความกว้างของล้อวงนั้นด้วย ซึ่งล้อที่จัดมาลองวัดครั้งนี้ เป็นล้อของ 15 x 7.5นิ้ว
อุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดหาค่าออฟเซ็ต
- ไม้ หรือแผ่นเหล็ก ยาวๆ สัก 2 ชิ้น
- ตลับเมตร หรือไม้บรรทัด
- เครื่องคิดเลข
การวัดค่าออฟเซ็ตของล้อ
1. ขั้นตอนแรกนำเอาไม้ หรือแผ่นเหล็กที่เตรียมไว้ ทาบติดไว้กับขอบล้อด้านนอก ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
2. วัดขนาดความกว้างรวมของล้อ ตั้งแต่ขอบกระทะด้านนอก ไปจนถึงขอบด้านใน ใช้หน่วยเป็นเซนติเมตร
3. จัดการวัดระยะห่างจากหน้าแปลนยึดดุมล้อด้านใน จนถึง กระทะขอบล้อด้านนอก
4. จากนั้นนำตัวเลขรวมความกว้างทั้งหมด ลบกับ ตัวเลขระหว่างหน้าแปลนยึดดุม มาลบ กับระยะของล้อของด้านที่จะวัด
ตัวอย่างสูตรคำนวน
- กระทะขนาด 7.5นิ้ว หรือตามทฤษฎี = 16.2 เซนติเมตร ดังนั้น Offset Zero ของล้อจะ = 8.1 เซนติเมตร
- ขนาดที่วัดได้จริง จากขอบล้อด้านนอกถึงด้านใน = 19 เซนติเมตร
- เพื่อหาขนาดขอบล้อทั้ง 2 ด้านจะนำ ระยะวัดจริง ลบกับ ระยะทางทฤษฎี แล้วหารสอง 19-16.2/2 = 1.4 เซนติเมตร เป็นค่าระยะขอบกระทะแต่ละด้าน
- วัดระยะจากหน้าแปลนยึดดุมล้อ ถึงขอบกระทะได้ = 13.5 เซนติเมตร
- คำนวณหาระยะ Offset = (ระยะวัดจากหน้าแปลนถึงขอบกระทะ) - (ระยะ Offset Zero) - (ระยะขอบกระทะ) = 13 - 8.1 - 1.4 = 3.5 เซนติเมตร
ดังนั้น Offset ของล้อวงนี้ จะออกจากจุด Offset Zero ไปด้านนอก หรือ ติดบวก 3.5 เซนติเมตร หรือ 35 มิลลิเมตร จึงเรียกได้ว่า Offset +35 นั่นเอง เป็นอันว่าเราสามารถจะคิดคำนวน ค่าออฟเซ็ตของล้อแต่ละวงได้แล้ว แม้ว่าจะไม่มีการระบุเอาไว้ให้เราเห็นก็ตาม คราวนี้หากเราต้องการใส่ล้อที่ค่าออฟเซ็ต ไม่ตรงกับค่ามาตรฐานของรถที่เราใช้อยู่ สามารถใช้ได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าได้ ทว่าก็ต้องมีวิธีแก้ไขให้สามารถใช้งานได้
ในกรณีที่ล้อมีค่าออฟเซ็ตบวกมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ล้อหุบเข้าไปในซุ้ม จนทำให้ล้อ และยาง ไปเสียดสีกับช่วงล่างของรถ มีวิธีแก้ไขง่ายๆ คือ
- เสริมสเปเซอร์ ถ้าระยะไม่มากโดย ประมาณ 1-2 เซนติเมตร มักจะใช้เป็น สเปเซอร์ แบบอลูมิเนียมเจาะรู เสริมวางเข้าไปก่อน แล้วนำล้อมาใส่ไขน๊อตติดให้แน่น สังเกตถ้าน็อตล้อสั้นเกินไป ต้องเปลี่ยนน็อตล้อให้ยาวขึ้น ป้องกันน็อตล้อหลุดสำหรับวิธีนี้ ข้อดีคือง่าย และประหยัด แต่มีข้อเสียก็คือ เซนเตอร์ล้ออาจผิดพลาด สเปเซอร์แบบอลูมิเนียม มักเกิดอาการยุบ ล้ออาจมีอาการแกว่ง พวงมาลัยสั่น ตั้งศูนย์ล้อไม่ได้
- ต่ออแดปเตอร์ ถ้าระยะห่างเกิน 2 เซนติเมตรขึ้นไป วิธีที่ดี ต้องใช้ อแดปเตอร์ มาไขติดกับดุมล้อของรถ ชั้นหนึ่งก่อน ต้องสังเกตให้ดีว่าน็อตล้อนั้น ยื่นออกมาเกิน อแดปเตอร์ หรือไม่ ถ้าเกินต้องตัดน็อตให้สั้นลง เพื่อไม่ให้ไปติด หรือชนกับล้อแม็ก สามารถใช้ได้ ทั้ง อแดปเตอร์เหล็ก และอลูมิเนียมเกรดสูง หรือใช้อแดปเตอร์ที่สามารถเปลี่ยน PCD หรือระยะรูน๊อตล้อได้ในตัว การใช้อแดปเตอร์ ถ้าเป็นแบบเหล็กกลึงขึ้นรูป ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกแบบที่มีการกลึงให้มีบ่ารับดุมล้อ ซึ่งจะช่วยให้ได้เซนเตอร์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าอแดปเตอร์มีความหนามาก ก็ย่อมส่งผลให้ มีน้ำหนักมาก อาจเป็นการเพิ่มภาระให้ช่วงล่างมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนอแดปเตอร์ แบบอลูมิเนียมเกรดสูง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ราคาก็จะสูงกว่าด้วย การใส่อแดปเตอร์ ถ้าเป็นไปได้ เมื่อใช้งานได้สักระยะ ควรถอดล้อออกมาแล้วไ ล่อัดไขน็อตอีกครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน
ส่วนในกรณีที่ ออฟเซ็ตติดลบมากไป ซึ่งอาจทำให้ยางเสียดสี กับบังโคลน ซุ้มล้อ การแก้ไข ที่ทำได้ก็คือ เจียร หรือ พับขอบซุ้มล้อ ซึ่งเป็นวิธีแก้ไข ในกรณีที่ล้อไม่ถ่างออกมามากเกินไป หรือเวลาวิ่งตรงไม่ติด แต่พอขึ้น เนิน เลี้ยว หรือบรรทุกหนักแล้วติด การพับซุ้ม ถือเป็นวิธีที่นิยมกันมาก เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย ประหยัด แต่ข้อเสียคือ ซุ้มล้อจะไม่แข็งแรง ยืนพิงเบาๆ ก็อาจจะยุบได้ และอาจส่งผลให้ซุ้มล้อผุอย่างรวดเร็ว ขยายซุ้มล้อ หรือ Wide Body การทำให้ซุ้มล้อกว้างขึ้น ถือเป็นวิธีที่ต้องลงทุนสูง แต่ก็ให้ความสวยงามมากขึ้น จะเห็นในรถยนต์ที่ตกแต่งสไตล์ VIP นิยมทำกันมาก ใส่โป่งล้อ หรือ Over Fender มักจะเป็น ลักษณะโป่งพลาสติก หรือ ไฟเบอร์เย็บติดกับซุ้มล้อ เป็นวิธีที่นิยมกันมากในหมู่รถพวก 4x4 จนถึงรถระดับ แข่งขัน Circuit
มาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่า นักแต่งรถทั้งหลายท่าน ก็น่าจะมีความเข้าใจแล้วว่า "Offset คืออะไร" ในบทความต่อไปจะเป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องใด อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น